กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ความเสียหายในเอเชียเพิ่มขึ้นกว่า 340 ล้านดอลลาร์จากปี 2546 ถึง 2547 อัตราการละเมิดในไทยลดลง 1%
ในช่วงปี 2547 พบว่า 53 เปอร์เซ็นต์ของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับปี 2546 อย่างไรก็ดี มูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นจาก 7,500 ล้านดอลลาร์ เป็นเกือบ 8,000 ล้านดอลลาร์
ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันนี้โดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ซึ่งเป็นสมาคมระหว่างประเทศของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำทั่วโลก การศึกษาโดยอิสระนี้ ซึ่งระบุว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้รับการดำเนินการโดยไอดีซี ผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยข้อมูลทางด้านเทคโนโลยี
“หนึ่งในสามของซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ทั่วโลกในปัจจุบันเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย” นายโรเบิร์ต ฮอลลีย์แมน ประธานและซีอีโอของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ กล่าว “ความสูญเสียดังกล่าวส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะทุกๆ ก๊อปปี้ของซอฟต์แวร์ที่ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมหมายถึงความสูญเสียในส่วนของภาษี การจ้างงาน และโอกาสในการขยายตลาดซอฟต์แวร์”
ในช่วงปี 2547 ยอดขายซอฟต์แวร์ทั่วโลกสูงกว่า 59,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 51,000 ในปี 2546 อย่างไรก็ตาม ซอฟต์แวร์ที่ได้รับการติดตั้งจริงมีมูลค่าถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 80,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2546
ในระหว่างที่แถลงผลศึกษาในสิงคโปร์ นายเจฟฟรีย์ ฮาร์ดี รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ กล่าวว่า “การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศต่างๆ ใน
เอเชีย-แปซิฟิก และถึงแม้ว่ารัฐบาลของหลายๆ ประเทศจะดำเนินมาตรการอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่ก็ยังจำเป็นต้องสานต่อมาตรการต่างๆ อีกมากมายเพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์นับเป็นกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงถือเป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นการลงทุนและการสรรค์สร้างนวัตกรรม”
ผลการศึกษาในครั้งนี้ชี้ว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในเอเชีย-แปซิฟิกมีตั้งแต่ 92 เปอร์เซ็นต์ในเวียดนาม ไปจนถึงระดับต่ำสุด 23 เปอร์เซ็นต์ในนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยสูงสุดเป็นอันดับ 4 นอกจากนั้น 3 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการละเมิดสูงที่สุดในโลกก็อยู่ในภูมิภาคนี้
นายนิโคลัส แวร์ ประธานคณะกรรมการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ แสดงทัศนะเกี่ยวกับผลการศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย โดยกล่าวว่า “การที่ประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ โดยอยู่ที่ 79% ในปี 2547 เป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ที่จริงแล้วการละเมิดลิขสิทธิ์ย่อมส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของไทย เพราะนอกจากจะคุกคามการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในภาคธุรกิจไอทีแล้ว ยังทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี โดยมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ประมาณ 183 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าเราจะรู้สึกผิดหวังอยู่บ้างที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยลดลงเพียงเล็กน้อย แต่เราก็รู้สึกพอใจที่ได้เห็นถึงความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาลไทยในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์นับเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน แต่เราก็เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของรัฐบาลจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการปราบปรามการละเมิด”
“สำหรับปีนี้ เราได้ขยายกิจกรรมด้านการให้ความรู้ โดยร่วมมือกับองค์กรที่มีบทบาทสำคัญอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (mai) เราหวังว่าโครงการ “บริหารสินทรัพย์ จัดระเบียบซอฟต์แวร์” หรือ Get SAM Get Compliant จะช่วยกระตุ้นให้บรรดาองค์กรธุรกิจตระหนักถึงความจำเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์” นายแวร์ กล่าวเสริม
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์นับเป็นภัยร้ายที่คุกคามประเทศต่างๆ ซึ่งหากว่าไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เข้มแข็งหรือไม่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจัง การละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ในรูปแบบของซอฟต์แวร์ดาวน์โหลดฟรี หรือ “warez”, สแปม, ไซต์ประมูล และ ระบบเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ (P2P) จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เมื่อมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ในช่วงปี 2547 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 44 ล้านคนในเอเชีย-แปซิฟิก โดยประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดได้แก่ตลาดใหม่ๆ ทั้งนี้คาดว่าในประเทศจีน จะมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นราว 100 ล้านคนในช่วง 4 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้น การละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ยังเป็นผลมาจากการขยายตัวของบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถส่งและดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ เช่น โปรแกรมซอฟต์แวร์ ภายในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลของไอดีซี พบว่าในปี 2547 จำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ในเอเชีย-แปซิฟิก เพิ่มขึ้นกว่า 7.5 ล้านครัวเรือน ทำให้มีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ทั้งหมดกว่า 33 ล้านครัวเรือน
ข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่ได้จากการศึกษา:
แม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงใน 37 ประเทศ แต่อัตราดังกล่าวกลับเพิ่มขึ้นใน 34 ประเทศ และอีก 16 ประเทศ มีอัตราการละเมิดคงที่
ในกว่าครึ่งหนึ่งของ 87 ประเทศที่ทำการศึกษา พบว่ามีอัตราการละเมิดสูงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และใน 24 ประเทศ มีอัตราการละเมิดสูงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์
ประเทศที่มีอัตราการละเมิดสูงสุด ได้แก่ เวียดนาม (92 เปอร์เซ็นต์), ยูเครน (91 เปอร์เซ็นต์), จีน (90 เปอร์เซ็นต์), ซิมบับเว (90 เปอร์เซ็นต์) และอินโดนีเซีย (87 เปอร์เซ็นต์)
ประเทศที่มีอัตราการละเมิดต่ำสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (21 เปอร์เซ็นต์), นิวซีแลนด์ (23 เปอร์เซ็นต์), ออสเตรีย (25 เปอร์เซ็นต์), สวีเดน (26 เปอร์เซ็นต์) และสหราชอาณาจักร (27 เปอร์เซ็นต์)
“การละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ในระดับที่สูงมากในประเทศและภูมิภาคที่ตลาดซอฟต์แวร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอย่างแพร่หลายสำหรับการทำงานและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน” นายมาร์ติน คราลิก รองผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของไอดีซี กล่าว “อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ เช่น ไต้หวัน มีการดำเนินนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยถือเป็นมาตรการสำคัญสำหรับการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์”
“ในอดีต ไต้หวันมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ที่สูงมาก แต่ในปัจจุบันสามารถลดอัตราการละเมิดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายอย่างจริงจังในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ดำเนินโครงการด้านการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวด เพื่อป้องกันการจำหน่ายซีดีซอฟต์แวร์เถื่อน และได้ดำเนินการจับกุมกลุ่มอาชญากรที่แสวงหากำไรจากการจำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย” นายคราลิก กล่าวเพิ่มเติม
“บีเอสเอมีความมุ่งมั่นที่จะอบรมให้ความรู้ ผลักดันการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม และสนับสนุนการปราบปรามอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในเอเชีย-แปซิฟิก และการเผยแพร่ซอฟต์แวร์เถื่อนผ่านอินเทอร์เน็ตและเครือข่าย P2P นับเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความจำเป็นในการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง” นายฮาร์ดี กล่าว “บีเอสเอจะยังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจากจะช่วยกระตุ้นการ
เติบโตทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นแล้ว ยังช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้จากการเก็บภาษี และดึงดูดการลงทุนสำหรับการสรรค์สร้างนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีในอนาคต”
ไอดีซีใช้ข้อมูลสถิติเฉพาะสำหรับยอดขายซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ โดยดำเนินการสัมภาษณ์กว่า 7,000 ครั้ง ใน 23 ประเทศ และมอบหมายให้นักวิเคราะห์ของไอดีซีในกว่า 50 ประเทศ ทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาวะตลาดในระดับท้องถิ่น
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาดังกล่าว โปรดเยี่ยมชม
www.bsa.org/globalstudy
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) คือองค์กรที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนโลกดิจิตอลที่มีความปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอคือกระบอกเสียงของกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ สมาชิกบีเอสเอคือตัวแทนของการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โครงการต่างๆของบีเอสเอล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์เทคโนโลยีผ่านภาคการศึกษาและนโยบายที่สนับสนุนการปกป้องลิขสิทธิ์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, การค้า และอีคอมเมิร์ซ สมาชิกกลุ่มบีเอสเอประกอบด้วย อะโดบี (Adobe), แอปเปิล (Apple), ออโต้เดสก์ (Autodesk), เอวิด (Avid), เบนต์เลย์ซิสเต็มส์ (Bentley Systems), บอร์แลนด์ (Borland), ซีเอ็นซีซอฟต์แวร์มาสเตอร์แคม (CNC Software/Mastercam), อินเทอร์เน็ตซีเคียวริตี้ซิสเต็มส์ (Internet Security Systems), แมโครมีเดีย (Macromedia), แมทต์เวิร์คส (MathWorks), แมคอะฟี (McAfee), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), พีทีซี (PTC), โซลิดเวิร์คส (SolidWorks), ไซเบส (Sybase), ไซแมนเทค (Symantec), ยูจีเอส (UGS) และเวอริทัสซอฟต์แวร์ (VERITAS Software)
ข่าวประชาสัมพันธ์
ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์
บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
อีเมล์ pranee@pc-a.co.th
โทรศัพท์ 0 2971 3711--จบ--