โรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่

ข่าวทั่วไป Tuesday July 3, 2012 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี จากการรายงานทางระบาดวิทยา พบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มสูงผิดปกติ ทั้งนี้มีผู้ป่วยสูงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี จากรายงานสถานการณ์การป่วยโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา(จนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2555) มีผู้ป่วยแล้ว 17,086 ราย เสียชีวิต 18 ราย และพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มอายุมากกว่า15 ปีขึ้นไป(วัยผู้ใหญ่) โดยมีผู้เสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่ 9 ราย ซึ่งมีแนวโน้มว่าปีนี้การระบาดและความรุนแรงของโรคจะเพิ่มมากขึ้นโดยกระจายอยู่ในทั่วทุกภาคของประเทศ สภาพภูมิอากาศและภูมิศาสตร์ของประเทศไทยเป็นเขตร้อนชื้น มีอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลายพื้นที่มีฝนตกเป็นช่วงๆ หรือบางพื้นที่มีพายุฝน ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามธรรมชาติ ซึ่งยุงชนิดที่เป็นพาะหะนำโรคในประเทศไทยได้แก่ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นพาหะหลัก และยุงลายสวน (Aedes albopictus) เป็นพาหะรอง สำหรับผู้ที่มีอาการไข้สูงลอย 39-40 องศาเซลเซียส ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ให้สงสัยเป็นไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก ต้องพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป กรมควบคุมโรค สนับสนุนให้ประชาชนดูแล ป้องกัน การเกิดโรคไข้เลือดออกได้ด้วยตนเองด้วยมาตรการ “5 ป.ปราบยุงลาย” ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ โดย 1. ปิด ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 2. เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3. ปล่อย ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร 4. ปรับ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และ 5. ปฏิบัติเป็นประจำจนเป็นนิสัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ