กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
จากกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว สภาพปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลไผ่ล้อม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ขาดแคลนน้ำดิบจากแหล่งน้ำผิวดินเข้าระบบผลิตประปาชุมชน ชาวบ้านจึงหันไปใช้ น้ำบาดาลแทน แต่กลับพบปัญหาน้ำที่สูบขึ้นจากบ่อน้ำบาดาลมีรสเค็มมาก ทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ นั้น
นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่พบปัญหาดังกล่าว ณ บ้านเลขที่ 13/1 บ้านนายี่ หมู่ที่ 5 ตำบลไผ่ล้อม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความลึก 88 เมตร เป็นบ่อน้ำบาดาลที่ใช้วัสดุเป็นท่อเหล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 มิลลิเมตร มีอายุการใช้งานมานานถึง 25 ปี เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เก็บตัวอย่างน้ำบาดาลมาวิเคราะห์คุณภาพ พบว่า น้ำบาดาลของบ่อดังกล่าวมีปริมาณคลอไรด์สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ ซึ่งสาเหตุของบ่อน้ำบาดาลเค็ม เกิดจากบ่อน้ำบาดาลมีอายุการใช้งานมานาน ท่อถูกกัดกร่อนจนชั้นน้ำเค็มที่อยู่ด้านบนไหลปนเปื้อนชั้นน้ำบาดาลจืด คุณภาพดี ทำให้บ่อน้ำบาดาลนั้นเค็ม และไม่ได้เกิดจากน้ำทะเลไหลแทรกขึ้นมาในพื้นที่แต่อย่างใด
กรณีบ่อน้ำบาดาลที่ประสบปัญหานั้น มีการเจาะพัฒนาน้ำบาดาลในชั้นน้ำพระประแดงขึ้นมาใช้ ซึ่งเป็นชั้นน้ำจืด คุณภาพดี วางตัวอยู่ใต้ชั้นน้ำกรุงเทพ ที่เป็นชั้นน้ำเค็ม มีคุณภาพไม่ดีไม่เหมาะสมต่อการอุปโภค บริโภค โดยผลการวิเคราะห์น้ำบาดาลของบ่อดังกล่าว มีค่าคลอไรด์ สูงถึง 4,400 มิลลิกรัมต่อลิตร เทียบกับมาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ต้องมีปริมาณคลอไรด์ ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร นอกจากนี้ ยังพบปริมาณเหล็ก แมงกานีส สังกะสี ซัลเฟต ความกระด้างทั้งหมด ความกระด้างถาวร และปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้เกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่จะใช้บริโภคได้ จึงเห็นว่าควรให้เลิกใช้อุปโภคบริโภค
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะดำเนินการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลเก่าที่เกิดปัญหาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในชั้นน้ำบาดาล และเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ทดแทน จำนวน 1 บ่อ บริเวณพื้นที่สาธารณะบ้านนายี่ หมู่ที่ 5 ตำบลไผ่ล้อม อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความลึก 84 เมตร ได้ปริมาณน้ำ 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติแล้วแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี และนครปฐม) เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ประกอบด้วยชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น โดยชั้นน้ำบาดาลนี้จะวางตัวสลับอยู่กับชั้นของดินเหนียว จึงทำให้มีชั้นน้ำบาดาลหลายชั้น แต่ละชั้นแยกจากกัน แบ่งได้ 8 ชั้น ได้แก่ ชั้นที่ 1 ชั้นน้ำกรุงเทพ (ความลึก 50 เมตร) ชั้นที่ 2 ชั้นน้ำพระประแดง (ความลึก 100 เมตร) ชั้นที่ 3 ชั้นน้ำนครหลวง (ความลึก 150 เมตร) ชั้นที่ 4 ชั้นน้ำนนทบุรี (ความลึก 200 เมตร) ชั้นที่ 5 ชั้นน้ำสามโคก (ความลึก 300 เมตร) ชั้นที่ 6 ชั้นน้ำพญาไท (ความลึก 350 เมตร).. ชั้นที่ 7 ชั้นน้ำธนบุรี (ความลึก 450 เมตร) ชั้นที่ 8 ชั้นน้ำปากน้ำ (ความลึก 500 เมตร เป็นชั้นน้ำบาดาลที่ลึกที่สุดที่ให้น้ำจืดทุกบริเวณ ในปัจจุบันได้มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เจาะบ่อและสูบน้ำจากชั้นน้ำนี้)