สำนักวิจัยเอแบคโพลล์เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความสุขมวลรวมของคนไทยในเดือนมิถุนายน 2555: กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 3, 2012 14:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--เอแบคโพลล์ ปี พ.ศ. 2555 เป็นปีที่คนไทยจำนวนมากคาดหวังและให้กำลังใจกับตัวเองว่าจะเป็นปีที่คนไทยมีความสุข มีเสียงหัวเราะ เป็นปีที่เป็นมงคลเพราะเลขสวย และเมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่กลางปีในเดือนมิถุนายนที่กำลังผ่านพ้นไปนี้ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความสุขมวลรวมของคนไทยในเดือนมิถุนายน 2555 กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,319 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 30 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขมากที่สุดในการสำรวจช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ใน 5 อันดับแรก พบว่า อันดับที่หนึ่ง ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 มีความสุขที่เห็นคนไทยเป็นหนึ่งเดียวกันแสดงความจงรักภักดี รองลงมาคือ ร้อยละ 74.8 มีความสุขเมื่อนึกถึงสุขภาพโดยรวมของตนเอง ร้อยละ 70.1 มีความสุขเมื่อนึกถึงจิตใจของตนเอง สุขภาพใจของตน ร้อยละ 69.2 มีความสุข เมื่อนึกถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตนเอง ร้อยละ 68.9 มีความสุขเมื่อนึกถึง การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เวลาเจ็บป่วยไม่สบาย ในขณะที่ รองๆ ลงไปคือ ร้อยละ 66.3 มีความสุข เมื่อนึกถึง สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น น้ำปะปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ร้อยละ 65.7 มีความสุข เมื่อนึกถึงระบบขนส่งมวลชน การคมนาคม ความสะดวก ปลอดภัยในการเดินทาง ร้อยละ 65.1 มีความสุขเมื่อนึกถึง คุณภาพการศึกษาของบุตรหลาน ร้อยละ 63.5 ระบุเรื่องความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ร้อยละ 62.8 ระบุเรื่องสภาพแวดล้อม รอบที่พักอาศัย ร้อยละ 60.8 ระบุ หน้าที่การงาน การประกอบอาชีพ ร้อยละ 60.3 ระบุเป็นเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมที่ตนเองประสบในชีวิต ร้อยละ 58.4 ระบุเป็นเรื่อง การชุมนุมประชาธิปไตยที่ไม่เกิดเหตุรุนแรง ร้อยละ 57.6 ระบุเป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ประสบในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ร้อยละ 55.2 ระบุเป็นการทำงานของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร้อยละ 54.9 ระบุความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง ร้อยละ 52.9 ระบุสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม อันดับท้ายๆ ที่คนไทยมีความสุขน้อยที่สุดคือร้อยละ 29.2 เมื่อนึกถึงภาพการประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ร้อยละ 29.8 ระบุเมื่อนึกถึงคุณภาพนักการเมือง ร้อยละ 44.1 เมื่อนึกถึงคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย ความรู้ความสามารถ การหนีเรียน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การใช้ยาเสพติด โอกาสทางการศึกษา การใช้ความรุนแรง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นต้น และร้อยละ 48.7 ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งระบุมีความสุขเมื่อนึกถึงราคาสินค้า รายได้ในแต่ละเดือน เรื่องกิน เรื่องใช้ชีวิต ปากท้องความเป็นอยู่ต่างๆ ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อได้สัมภาษณ์เจาะลึกถึงเหตุผลของความสุขที่มีน้อยต่อสิ่งต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ระบุการประชุมรัฐสภาที่มีแต่ความขัดแย้ง ทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ด่ากัน มีภาพโป๊ในสภาอันทรงเกียรติได้ทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันทางการเมืองที่น่าจะเป็นสถาบันแห่งความหวังในการคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม และคุณภาพนักการเมืองที่เอาแต่แก่งแย่งอำนาจ และเมื่อมีอำนาจก็เอาแต่ผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ทั้งๆ ที่นักการเมืองคือกลุ่มคนที่ต้องทำหน้าที่แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนของสาธารณชนและรักษาความเป็นธรรมทางสังคม เป็นกลุ่มคนที่ต้องช่วยลดความขัดแย้งไม่ใช่สร้างความแตกแยกขัดแย้งในหมู่ประชาชนเสียเอง ผลสัมภาษณ์เจาะลึกยังพบด้วยว่า การที่ผู้ใหญ่ในสังคมทั้งนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ไม่ใส่ใจดูแล ไม่จริงจังแก้ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและเยาวชนทั้งเรื่องเพศ เรื่องการพนันบอล การพนันออนไลน์ ความมัวเมามั่วสุมเหล่านี้ มีข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ทั้งสิ้น การวางตัวหัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็นำคนที่มีปัญหาและพรรคพวกของฝ่ายการเมืองเข้ามาทำให้การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ เป็นต้น นอกจากนี้ ปัญหาปากท้อง ราคาสินค้า รายได้ที่ไม่เพียงพอก็ยังไม่พบแนวทางการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม นักการเมืองเมื่อมีอำนาจเป็นรัฐมนตรีก็ลืมประชาชนยังไม่เห็นใครทำงานหนักแบบเกาะติดพื้นที่เกาะติดประชาชนอย่างจริงใจและจริงจังเลย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีหญิงของไทย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำงานต่อไป แต่ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า คนจำนวนมากคือร้อยละ 39.7 มีความสุขลดลงจากช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีร้อยละ 47.9 สุขเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 12.4 เท่านั้นที่มีความสุขเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า คนในประเทศเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่มีความสุขเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลสำรวจที่ไม่แตกต่างไปจากอดีตในการทำงานของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ที่น่าพิจารณาคือ ผลแสดง 5 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างที่เป็นปัญหากำลังบั่นทอนความสุขในเวลานี้ กลับเป็นสังคมเสื่อม ขาดจริยธรรม ขาดความรักความเกื้อกูล ขัดแย้งแตกแยกวุ่นวาย มากกว่า ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ หรือกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญไม่แตกต่างกันเลยทีเดียว คือร้อยละ 68.1 ระบุปัญหาสังคมเสื่อม ขาดจริยธรรม ขาดความรักความเกื้อกูล ขัดแย้งแตกแยกวุ่นวายของคนไทย กำลังบั่นทอนความสุขในเวลานี้ ในขณะที่ร้อยละ 67.0 ระบุเป็นปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ร้อยละ 63.3 ระบุนักการเมืองเอาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ขัดแย้งแก่งแย่งกัน มีอำนาจแล้วลืมประชาชน ร้อยละ 51.1 ระบุระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมทำงาน ไม่จริงใจ ไม่บริการประชาชน และร้อยละ 50.7 ระบุสื่อมวลชน ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า รัฐบาลต้องไม่ลืมปัญหาสังคมต้องไม่มุ่งเน้นแต่เฉพาะปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่แตกต่างกัน โดยสื่อสร้างสรรค์จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการช่วยรัฐบาลลดทอนปัญหาสังคมเพราะจากผลสำรวจค้นพบว่า สื่อมวลชนติด 1 ใน 5 อันดับปัจจัยที่กำลังบั่นความสุขของประชาชน นอกจากนี้การวางตัวบุคคลในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ (Accountability) เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ โดยรัฐบาลต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญสี่ประการในการทำงานคือ ประสิทธิภาพ (Effectiveness) การใช้เม็ดเงินงบประมาณอย่างคุ้มค่า (Efficiency) การวางตัวบุคคลทำงานจริงจังมีความเป็นผู้นำที่ใช้ทั้งอำนาจ (Power) และจริยธรรม (Ethics) จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการปฏิรูปประเทศผ่านโมเดลการพัฒนาปรับปรุงต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และการปฏิบัติภารกิจแห่งรัฐที่โปร่งใส (Transparent Performance) โดยรัฐบาลนำร่องใช้เว็บไซต์ของตนเองประกาศรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นในลักษณะที่ให้สาธารณชนแกะรอยตรวจสอบได้ในทุกเม็ดเงิน ผลที่น่าจะตามมาคือ ความเข้มแข็งของสาธารณชนในระบอบประชาธิปไตยที่จะดูแลปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคนและความมั่นคงของประเทศโดยรวม จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.2 เป็นชาย ร้อยละ 52.8 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.5 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 18.6 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 36.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 27.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 7.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.0 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 2.6 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ