กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--สนพ.
กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาไบโอดีเซลขายเชิงพาณิชย์
ด้านบริษัทรถยนต์ขานรับนโยบาย ขอเวลา 1 ปี ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้ไบโอดีเซล
ดร.พรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าขณะนี้ได้ขอความร่วมมือให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการรวบรวมข้อมูลการใช้ผลิตผลทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตหรือเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไบโอดีเซล โดยให้แต่ละหน่วยงานสรุปแผนการพัฒนาไบโอดีเซลที่ผ่านมา และแผนงานในอนาคต รวมทั้งสรุป งบประมาณในการดำเนินงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการพัฒนาไบโอดีเซลขายเชิงพาณิชย์ให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการหารือกับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวง การคลังเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล เช่น การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ไบโอดีเซล การกำหนดมาตรฐานไบโอดีเซลตามมาตรฐานสากลให้เหมาะสมกับประเทศไทย (มาตรฐาน B100) หารือกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อออกแบบเครื่องยนต์ที่เหมาะสมกับน้ำมันไบโอดีเซลและแนวทางในการส่งเสริมเพื่อสร้างความต้องการด้านการตลาดของเครื่องยนต์ใช้ไบโอดีเซล โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งหารือกับกรมควบคุม มลพิษเพื่อกำหนดมาตรฐานไอเสียที่ปล่อยจากรถยนต์ เป็นต้น
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณภูมิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาไบโอดีเซลเพื่อทดแทนหรือลดการนำเข้าน้ำมันอย่าง จริงจังของภาครัฐถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนาและศึกษาทดลองใช้ ไบโอดีเซลให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์ เพื่อกำหนดมาตรฐานไบโอดีเซลที่ชัดเจน
สำหรับการศึกษาทดลองปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อให้เหมาะสมกับน้ำมันไบโอดีเซลคาดว่า ใช้เวลาประมาณ 1 ปี เนื่องจากต้องทดสอบกับเครื่องยนต์หลายๆ ประเภท เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิด ผลกระทบต่อเครื่องยนต์
นอกจากนี้ผู้ประการรถยนต์พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการให้ ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อแนวทางการพัฒนาไบโอดีเซลต่อไป
ด้านนายไพบูลย์ ภู่เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด กล่าวว่า การที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้นำพืชน้ำมันโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันมาผสมน้ำมันดีเซล ควรมีการกำหนดมาตรฐานส่วนผสมและมาตรฐานการกลั่นอย่างชัดเจน รวมทั้งการศึกษาทดลองใช้ให้เหมาะสมกับเครื่องยนต์เพื่อไม่เกิดผลกระทบต่อระบบเครื่องยนต์ พร้อมๆ กับการประเมินความคุ้มค่า เชิงเศรษฐศาสตร์ โดยหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอรองรับความต้องการของตลาด เพื่อผลักดันให้ไบโอดีเซลมีราคาต่ำจูงใจผู้บริโภค
ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368
121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.eppo.go.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--