กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--TK park
แอพพลิเคชั่น (Application) หรือที่ใครหลายคนเรียกกันสั้นๆว่า “แอพฯ” เป็นคำคุ้นหูสำหรับคนในยุคสมัยนี้ แอพพลิเคชั่น คือ โปรแกรมที่ใช้ติดตั้งในอุปกรณ์เพื่อให้สามารถทำงานต่างๆได้ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแอพฯที่แจกฟรีและแอพฯที่ต้องซื้อก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้ และนับวันแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ ก็มีให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้หลากหลายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
อุทยานการเรียนรู้ TK park เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนและบุคคลทั่วไป ให้มีความรู้ในโลกของแอพพลิเคชั่นมากยิ่งขึ้น จึงจัดนิทรรศการ “ฉลาดอ่าน รู้เรียน เซียนแอพสร้างสรรค์” (App Story) ขึ้น ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 16-17 และ 23-24 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างการเรียนรู้การใช้แอพฯอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ผ่านกิจกรรม ทั้งนิทรรศการฉลาดอ่าน รู้เรียน เซียนแอพสร้างสรรค์, App Show โชว์อุปกรณ์พกพาแห่งยุค, เวิร์กชอบลากเส้นเป็นการ์ตูนผ่านแท็บเล็ต, การสร้างสรรค์แอพฯด้วยไอเดียสุดบรรเจิด อย่างง่าย ๆใน 10 นาที และการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้ที่คลุกคลีอยู่กับโลกไอทีและแอพพลิเคชั่น
ครอบครัว คุณจรัล และคุณวรรณนิภา ยศตรีสรณ์ ที่มาพร้อม น้องโดเมน ด.ช.วรรณธัช ยศตรีสรณ์ ครอบครัวตัวอย่างที่ใช้ไอแพดเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งซื้อไอแพดมาใช้เกือบ 2 ปี โดยแบ่งกันใช้ทั้งครอบครัวรวมทั้งน้องโดเมนด้วย เล่าว่า ตอนแรกที่ซื้อไอแพดนั้นคิดว่าจะสามารถประหยัดพื้นที่ของเล่นได้ เพราะเคยเห็นบ้านเพื่อน ๆ ซึ่งมีลูกเล็กๆเต็มไปด้วยของเล่น จึงคิดว่าจะลดของเล่นลงมาอยู่ในไอแพด แต่หลังจากซื้อแล้วก็รู้ว่ามันไม่จริง เพราะไอแพดไม่สามารถทดแทนหนังสือ หรือของเล่นอื่นๆ ได้ แต่เป็นส่วนเสริมการเรียนรู้ของเด็กเท่านั้น ส่วนของเล่นที่ต้องการการสัมผัส จับต้อง ก็ยังคงให้ลูกเล่นอยู่ แม้ว่าช่วงแรก ๆ ที่ซื้อมานั้นน้องโดเมนจะติดไอแพด แต่ช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มหาอะไรอย่างอื่นให้ทำ เช่น ช่วงเวลาที่เคยเล่นไอแพด ก็พยายามหาการ์ตูนหรือหากิจกรรมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ น้องโดเมนก็จะรู้ว่าเวลาไหนควรเล่นหรือเวลาไหนไม่ควรเล่น
คุณจรัล เล่าเพิ่มเติมว่า ในฐานะพ่อจะพยายามเลือกแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์และช่วยเสริมสร้างทักษะของเด็ก อย่างเช่น แอพ poo ที่สอนเรื่องการขับถ่าย, แอพ Bus เป็นแอพรถรับส่งนักเรียน ที่สอนเรื่องการขับรถ ซึ่งแอพเหล่านี้จะช่วยสอนทักษะให้เด็กเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
ด้านคุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ หรือ ซี พิธีกรและผู้ประกาศข่าวไอทีชื่อดัง กล่าวถึงประสบการณ์ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับโลกไอทีว่า แอพพลิเคชั่นที่เอื้อประโยชน์ต่อการทำงานนั้นมีหลากหลายแอพฯ เช่น Dropbox เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้บ่อยและมีประโยชน์ในการทำงานมาก เพราะสามารถส่งข่าวและอัพโหลดไฟล์ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามช่วยให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ซี ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับแท็บเล็ตสำหรับเด็ก ป.1 ว่า ผู้ปกครองต้องเรียนรู้ว่าจะใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์ เพราะมีแอพพลิเคชั่นที่ดี ๆ เยอะมาก สามารถประยุกต์ให้ใช้งานสารพัดประโยชน์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่แท็บเล็ตของเด็ก ป.1 เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ที่ต้องรู้ด้วย อาจจะให้คุณพ่อ คุณแม่ ลองเล่นก่อนแล้วจึงให้ลูกเล่น ก็จะช่วยป้องกันการใช้แอพพลิเคชั่นที่ไม่สร้างสรรค์ได้ในระดับหนึ่ง
คุณวิมลพร รัชตกนก หรือ วิว นักออกแบบแอพพลิเคชั่นในไอโฟน และออกแบบเว็บไซต์ ยอมรับว่า โลกเราก้าวไปไกลมาก สื่อต่างๆสามารถเข้ามาถึงมือเด็กได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้ปกครองว่าจะสามารถแนะนำให้เด็กใช้ประโยชน์จากเกมได้อย่างไร อาจต้องมีการควบคุมเรื่องเวลาเล่น หรือถ้าชอบเล่นเกมแล้วจะสามารถนำไปต่อยอดได้หรือไม่
“อย่างวิวชอบเรื่องของกราฟิกดีไซน์ เวลาเล่นเกมและเห็นว่าสวยก็ลองนำไปปรับใช้ ทำให้เราได้มองในเรื่องของงานศิลป์ด้วย”
คุณสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย และผู้บริหารบริษัท Debuz ผู้ผลิตเกมส์อสุรา กล่าวเสริมว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นมีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ต้นทุนในการพัฒนาไม่ได้สูงมาก เพียงแค่มีคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้านก็สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นดี ๆ ออกมาได้ แต่ก็ต้องอาศัยความรู้และความใส่ใจอย่างจริงจังด้วย ซึ่งถ้าหากเริ่มต้นเขียนโปรแกรมไม่เป็น ก็จะมีแอพพลิเคชั่นง่าย ๆ ที่ช่วยให้สร้างแอพพลิเคชั่นโดยไม่ต้องเขียนโปรแกรม ก็จะเก่ง เรียนรู้ และพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้
ขณะที่ คุณพรชัย จันทรศุภแสง หรือพี่มิ้ง บก. นิตยสารคอมพิวเตอร์ทูเดย์ กล่าวว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นมีความสำคัญมาก เพราะแอพพลิเคชั่นช่วยให้แท็บเล็ต ไอแพด และสมาร์ทโฟน เป็นมากกว่าอุปกรณ์ ช่วยเพิ่มมูลค่าของอุปกรณ์เหล่านี้ โดยปัจจุบันมีเด็กต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งพี่มิ้งแนะนำว่า การปลูกฝังให้เด็กเก่งด้านการพัฒนาแอพฯนั้นต้องเริ่มจากผู้ปกครอง ดังนั้นการปล่อยให้เด็กเล่นเกมหรืออยู่กับคอมพิวเตอร์ทั้งวันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะสุดท้ายเด็กจะติดเกม ไม่ได้อยากจะพัฒนาแอพฯ สิ่งที่ต้องปลูกฝังสำหรับเด็กที่อยากจะเป็นนักพัฒนาแอพฯคือเรื่องของคณิตศาสตร์ เพราะการเรียนคณิตศาสตร์จะทำให้เข้าใจเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลและทำให้เราคิดได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น
“การเล่นเกมไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่เราต้องเลือกให้มันเหมาะสม มันไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายว่าถ้าอยากให้ลูกเป็นนักพัฒนาแอพฯ ต้องให้ลูกเล่นเกมอย่างเดียว เพราะถ้าเราไปดูประวัติ สตีฟ จอบส์ หรือ บิล เกตส์ นั้น เขาไม่ใช่คนชอบเล่นเกม แต่เป็นคนที่ชอบเรียนคณิตศาสตร์ ชอบคิด และสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เป็น แอพฯสตาร์ได้ในอนาคต”
นอกจากนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้ผลิต “TK App” แอพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งทาง TK park ได้คัดสรรเนื้อหาความรู้ที่มีคุณค่าเพื่อให้เด็กและเยาวชนไทย ได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลิน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเนื้อหาอิงอยู่บนรากฐานความรู้ของความเป็นไทย ได้แก่ หนังสือเสียง, เครื่องดนตรีไทย, E-book ชุดขุมทรัพย์ของแผ่นดิน,วัตถุเล่าเรื่องและเกมบุ๊ค ผู้สนใจสามารถร่วมประสบการณ์ความสนุกสนานกับสื่อสร้างสรรค์ของ TK park ได้ง่าย ๆ หลายช่องทาง สำหรับอุปกรณ์ไร้สายของค่าย iOS ทั้งไอโฟน ไอแพด สามารถติดตั้งได้จาก App Store และ สำหรับผู้ใช้อุปกรณ์ไร้สายของค่าย Android สามารถติดตั้งได้จาก Google Play โดย search หาคำว่า TK app หรือ TK park และยังมีทางเว็บไซต์ http://tkapp.tkpark.or.th
ปัจจุบันการเรียนรู้และการติดต่อสื่อสารมีหลากหลายช่องทางมากขึ้น ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่าง ”แอพพลิเคชั่น” ที่มีการผลิตออกมาอย่างหลากหลาย ดังนั้นการเลือกเนื้อหาที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเยาวชน ที่ พ่อ แม่ ผู้ปกครองควรดูแลแนะนำลูกหลาน เพื่อให้เยาวชนใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม