เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีในช่วงที่ผ่านมา...แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากยุโรป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 17:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ภาวะเศรษฐกิจไทยในดือนพฤษภาคม 2555 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคเอกชน ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุน ตลอดจนการพลิกกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออก แม้ว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซน และสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ จะปกคลุมบรรยากาศการค้า-การผลิตของหลายภูมิภาคของโลกให้อยู่ในภาวะที่ซบเซาก็ตาม ทั้งนี้ แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 จะดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปที่ดีกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ และน่าจะช่วยคลายความกังวลต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซนลดไปได้บางส่วนในช่วงแรก อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญสำหรับระยะสั้นและระยะยาวของยุโรปในช่วงหลังจากนี้ ก็คือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่จะส่งผ่านมาที่ภาคการส่งออกของไทย ก็ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่รออยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนพฤษภาคม...ขยายตัวทุกภาคส่วนสอดคล้องกัน - เครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชน (การบริโภคและการลงทุน) ปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2555 ท่ามกลางแรงหนุนจากสภาวะค่าครองชีพ/ต้นทุนการผลิตที่ลดแรงกดดันลง และความต่อเนื่องของกิจกรรมการฟื้นตัวจากผลกระทบอุทกภัยช่วงปลายปีก่อน[1] โดยสะท้อนผ่านการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายเชื้อเพลิง (ขยายตัวร้อยละ 1.0 MoM) ปริมาณการใช้ไฟฟ้า (ขยายตัวร้อยละ 4.2 MoM) การนำเข้าสินค้าอุปโภค-บริโภคและสินค้าทุน (ขยายตัวร้อยละ 23.4 และร้อยละ 2.3 MoM) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ขยายตัวร้อยละ 9.5 MoM) ยอดจำหน่ายยานยนต์[2] (ขยายตัวร้อยละ27.4 MoM) และปริมาณการจำหน่ายปูนซิเมนต์ (ขยายตัวร้อยละ 2.1 MoM) ทั้งนี้ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือนพฤษภาคม ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 4.1 (MoM) และร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เร่งขึ้นเป็นสองเท่าจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 (YoY) ในเดือนเมษายน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนนั้น ยังคงเติบโตจากเดือนก่อนหน้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อีกร้อยละ 1.8 (MoM) ซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 14.0 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม จากร้อยละ 12.6 (YoY) ในเดือนเมษายน - ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคม 2555 (ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม) ขยายตัวสอดคล้องกัน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าต่อเนื่องอีกร้อยละ 5.9 (MoM) และพลิกกลับมาบันทึกอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 5.5 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนก่อนหน้า นำโดย การเร่งกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ (ขยายตัวร้อยละ 136.2 YoY) เบียร์ (ขยายตัวร้อยละ 46.3 YoY) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ขยายตัวร้อยละ 14.3 YoY) เพื่อรองรับกำลังที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตภาคเกษตรกรรมนั้น แม้ในภาพรวมจะหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า (หดตัวร้อยละ 5.6 MoM) แต่ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ ก็เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนท่ามกลางสภาวะที่เอื้อต่อการเพาะปลูก และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 7.3 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม หลังจากหดตัวร้อยละ 0.2 (YoY) ในเดือนเมษายน ? ภาคต่างประเทศขยายตัวในเดือนพฤษภาคม 2555 ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก การส่งออก เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 6.5 (MoM) และขยายตัวร้อยละ 6.7 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 3.5 (YoY) ในเดือนเมษายน โดยการส่งออกได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยายยนต์ และการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สิบของราคาสินค้าส่งออกของไทย (นับตั้งแต่เดือนส.ค. 2554) ส่วนการนำเข้าในเดือนพฤษภาคมนั้น เพิ่มขึ้นในทุกหมวด สอดคล้องกับการขยายตัวกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ (ทั้งการใช้จ่ายและการผลิต) และการกลับมาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 11.1 (MoM) และร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.0 (YoY) ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในระดับที่มากกว่ามูลค่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าของไทยพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุลประมาณ 574 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤษภาคม จากที่ขาดดุล 734 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ดี ยอดขาดดุลบริการฯ ที่สูงถึง 2.1 พันล้านดอลลาร์ฯ (จากการลดลงของการโอนค่าสินไหมทดแทน รายรับท่องเที่ยวตามปัจจัยฤดูกาล และการเพิ่มขึ้นของยอดชำระค่าระวางเรือ) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงบันทึกยอดขาดดุลในระดับที่สูงกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ฯ เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และแรงกดดันด้านต้นทุน...บททดสอบภาคอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า แม้การพลิกกลับสู่เส้นทางการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 5.5 (YoY) ในเดือนพฤษภาคม 2555 จะเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนภาพผลกระทบจากน้ำท่วมที่เบาบางลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเร่งผลิตในกลุ่มยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี สำหรับในบางอุตสาหกรรมแล้ว (อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และแผงวงจรไฟฟ้า) สัญญาณบวกจากการฟื้นฟูกำลังการผลิตหลังอุทกภัย อาจถูกหักล้างลงโดยความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตหนี้ยูโรโซน ทั้งนี้ แม้การผลิตภาคอุตสาหกรรม จะยังสามารถประคองทิศทางการขยายตัวไว้ได้ตามกิจกรรมการกอบกู้โรงงานกลับสู่ภาวะปกติในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยอาจไม่สามารถหลีกพ้น 2 ทดสอบสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้แก่ ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตหนี้ยูโรโซนต่อภาคการผลิตและการส่งออก (กลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมที่เน้นส่งออกสินค้าไปยังยุโรปเป็นตลาดหลัก รวมไปถึงสินค้าที่เน้นการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มียุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญอีกทอดหนึ่ง) และภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอาจเพิ่มสูงขึ้นจากค่าไฟฟ้าและพลังงานบางประเภท อย่างไรก็ดี ความรุนแรงของผลกระทบสำหรับแต่ละภาคธุรกิจคงมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการปรับตัว และบริหารจัดการความเสี่ยงในภาพรวม - สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องประดับ...รับศึกรอบด้านทั้งต้นทุนส่วนเพิ่มและวิกฤตยุโรป สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ต่างก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 และหากมองจากด้านต้นทุนการผลิต จะเห็นว่าทั้ง 4 อุตสาหกรรมอยู่ในกลุ่มที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น จึงได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างรุนแรง ส่วนในด้านการส่งออกนั้น ตลาดหลักของสินค้ากลุ่มนี้ (โดยเฉพาะเครื่องประดับและเครื่องนุ่งห่ม) ต่างก็เป็นประเทศในยุโรปแทบทั้งสิ้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันเป็นอันดับต้นๆ ในเส้นทางการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี - ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์...ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤตยุโรปผ่านการชะลอตัวของตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ซึ่งล้วนมียุโรปเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญติด 5 อันดับแรก นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ยังมีต้นทุนวัตถุดิบที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมันดิบ อีกด้วย ดังนั้น หากราคาโภคภัณฑ์เหล่านี้ กลับมาฟื้นตัวขึ้นในระยะข้างหน้า (จากผลทางจิตวิทยาของมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ และวิกฤตหนี้ที่อาจมีแรงกดดันที่บรรเทาลงในบางช่วงหากทางการยุโรปเร่งแก้ไขสกัดการลุกลามของวิกฤต) - คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสไดร์ฟ และแผงวงจรไฟฟ้า... ความต้องการยังมี แม้ตลาดหลักจะเสี่ยงสูง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหลายชนิด และมีสัดส่วนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่การฟื้นตัวจากผลกระทบน้ำท่วมที่ค่อนข้างล่าช้ากว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยแม้ว่า ตลาดส่งออกหลักของสินค้ากลุ่มนี้ ทั้งจีน เกาหลีไต้ และไต้หวัน จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ดี กระแสการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่รุนแรงของโลก รวมทั้งความนิยมเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งในเอเชีย รวมทั้งในไทย ก็น่าจะยังประคองให้อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ สามารถประคองการฟื้นตัวไว้ได้ในช่วงครึ่งปีหลัง - อาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า...อุปสงค์ยังดีทั้งภายในและภายนอก แต่จำเป็นต้องมีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอีกกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีภาระต้นทุนรวมที่น่าจะเพิ่มสูงอีกในระยะข้างหน้า เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับผลกระทบทางตรงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของชิ้นส่วนต่างๆ ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายของอุตสาหกรรมอีกด้วย อย่างไรก็ดี อุปสงค์ต่อสินค้ากลุ่มนี้ ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีทั้งจากความต้องการภายในประเทศที่สะสมตั้งแต่ในช่วงน้ำท่วม และจากตลาดภายนอกที่เน้นภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งความต้องการยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง คงต้องยอมรับว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมยังคงปรากฎอยู่ในหลายอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวล่าช้า ก็คงจะมีการเร่งกำลังการผลิตขึ้นให้กลับสู่ภาวะปกติในระยะข้างหน้า ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยเสริมให้กับอุตสาหกรรมอื่นที่ได้ฟื้นตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และประคองให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังสามารถขยายตัวได้ต่อไป แต่อัตราการเติบโตของแต่ละอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้าจะมาก-น้อยเพียงใด ก็คงจะขึ้นอยู่กับระดับผลกระทบจากปัจจัยกดดันทั้งภายนอกและภายในที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น โดยสรุป เครื่องชี้เศรษฐกิจแทบทุกหมวดในเดือนพฤษภาคม 2555 สะท้อนให้เห็นภาพการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น นำโดย การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งการผลิตของอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และแรงเสริมจากอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอื่นๆ ที่มีการฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ 6.6 (YoY) และร้อยละ 14.0 (YoY) ตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของยอดจำหน่ายยานยนต์ (ที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาณการเร่งกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ระดับสูงที่สุดในรอบ 50 ปี) การนำเข้าสินค้าทุน-เครื่องจักร และยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์ ส่วนในด้านการส่งออก ก็สามารถกลับมาบันทึกอัตราการขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.7 (YoY) ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าภาวะวิกฤตยุโรปที่เพิ่มระดับความเสี่ยงจะกดดันให้การส่งออกสินค้าบางชนิดที่มีตลาดหลักอยู่ในยุโรปเริ่มมีสัญญาณที่ซบเซาลง ขณะที่ การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ยังคงเผชิญภาวะหดตัวจากทั้งปริมาณและราคาที่ต่ำกว่าปีก่อน จากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2555 สามารถกลับสู่แนวโน้มการเติบโตที่ค่อนข้างมั่นคงขึ้น โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากแรงหนุนภายในประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการผลิต และการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีภาพด้านลบรุนแรงจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน จะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้ ทิศทางการฟื้นตัวที่กระจายไปทั่วทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/2555 น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในกรอบร้อยละ 3.1-4.1 (ค่ากลางร้อยละ 3.6) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.3 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ทั้งนี้ แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำยุโรปในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 จะดูเหมือนว่าได้ข้อสรุปที่ดีกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ และน่าจะช่วยคลายความกังวลต่อวิกฤตหนี้ยูโรโซนลดไปได้บางส่วนในช่วงแรก อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญสำหรับระยะสั้นและระยะยาวของยุโรปในช่วงหลังจากนี้ ก็คือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงกดดันจากวิกฤตหนี้ยุโรปที่จะส่งผ่านมาที่ภาคการส่งออกของไทย ก็ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่รออยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 น่าจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าช่วงครึ่งปีแรกจากมูลค่าฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีก่อน แต่แรงผลักดันจากภาครัฐบาลในการดำเนินนโยบายสนับสนุนการเติบโตของภาคการใช้จ่ายในประเทศ ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองเส้นทางการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่องไม่สะดุดลง [1] ราคาพลังงานในประเทศลดลงตามสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก และมีการชะลอการปรับขึ้นค่า Ft ในเดือนพ.ค. 2555 ออกไป [2] ซึ่งยังมีความต้องการในระดับสูง ที่คั่งค้างจากช่วงน้ำท่วม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ