ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งหลังของปี 2555 : คาดรักษาแรงส่งการขยายตัว หลังเติบโตสูงในช่วงครึ่งปีแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 3, 2012 17:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธุรกิจประกันชีวิตปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวสูง หลังยอดขายในช่วง 4 เดือนแรกของปีเติบโตขึ้นถึง 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากแรงผลักดันด้านซัพพลายของธุรกิจประกัน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มตัวแทน และเสริมแรงจูงใจนักขาย รวมถึงนโยบายเชิงรุกของช่องทางการขายผ่านธนาคาร ด้วยกลยุทธ์การขายผ่านพนักงานสาขา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าบุคคลระดับกลางขึ้นไป ซึ่งการเปิดตัวได้ดีตั้งแต่ต้นปี น่าจะช่วยให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2555 มีโอกาสแตะกรอบบนของประมาณการทั้งปีตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไว้ว่าจะเติบโตได้ถึง 13-15% (YoY) เทียบกับปี 2554 ที่ขยายตัว 11% ดังสรุปต่อไปนี้ ธุรกิจประกันชีวิต 4 เดือนแรกปี 2555 : เบี้ยรายใหม่ขยายตัวดีกว่าคาด...แตะ 22% (YoY) - ธุรกิจประกันชีวิตปี 2555 ขยายตัวในอัตราเร่งตั้งแต่ต้นปี จากการพร้อมใจกระตุ้นยอดขายใหม่ของบริษัทประกันและธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับจากธุรกิจใหม่ (New Business Premium) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นถึง 22.0% (YoY) ซึ่งเมื่อรวมกับเบี้ยประกันรับปีต่อไป (Renewal Premium : RYP) ที่เพิ่มขึ้น 13.9% (YoY) ทำให้เบี้ยประกันรับตรงรวมมีอัตราการเติบโต 16.2% (YoY) เป็น 116,972 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจโดยเฉพาะรายใหม่ เริ่มแผ่วลงติดต่อกันประมาณเดือนละ 2-3% ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน หลังจากที่ไต่ระดับสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ แต่คาดว่าน่าจะเป็นการปรับฐานช่วงสั้น โดยยังมีโอกาสเติบโตในเกณฑ์สูงขึ้นได้อีกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จากยอดขายในงานมันนี่เอ็กซโป และการทำยอดเพื่อปิดงวดบัญชีครึ่งแรกของปี ซึ่งถือเป็นฤดูขายที่สำคัญที่สุดในรอบปี - บริษัทประกันชีวิตทั้งรายเล็กและใหญ่ ต่างดำเนินแผนธุรกิจเชิงรุกตั้งแต่ต้นปี ด้วยการเสริมช่องทางขายผ่านการรับตัวแทนใหม่เพิ่มขึ้นและการจับคู่ธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเงินออมรายใหญ่ อาทิ กรมธรรม์ประเภทตลอดชีพ (Whole Life) ที่มีระยะเวลาชำระเบี้ยประกันสั้นและมีเงินคืนทุกปี และกรมธรรม์ประเภทสะสมทรัพย์ระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น แบบประกันที่มีระยะเวลา 5 ปี นำส่งเบี้ยประกัน 3 ปี (5/3) และ 3/2 เป็นต้น ขณะที่ บริษัทประกันที่นำการเติบโตของธุรกิจใหม่ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่ยังคงจำกัดอยู่ในกลุ่ม 6 บริษัทประกันที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดรวมกันเกือบ 80% ช่องทางการขายไตรมาส 1/2555 : ปริมาณธุรกิจใหม่ที่ขายผ่านธนาคารเติบโตเร่งขึ้น 42.3% ภาพรวมช่องทางการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ (Bancassurance) ในไตรมาสแรกปี 2555 ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 36.74% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 33.1% จากการขยายตัวในอัตราเร่งเหนือค่าเฉลี่ยระบบ ทั้งจากธุรกิจใหม่ 42.30% (YoY) (ประกอบด้วย เบี้ยปีแรก (First Year Premium : FYP) 61.93% และเบี้ยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium : SP) 22.05%) และเบี้ยรับปีต่อไป 22.15% (YoY) ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของช่องทางการขายประกันผ่านตัวแทน (Agency) ปรับตัวลดลงเป็นลำดับมาอยู่ที่ 56.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 59.1% เนื่องจากปริมาณธุรกิจขยายตัวในอัตราที่ช้ากว่า ทั้งปริมาณธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้น 14.74% (YoY) (FYP 11.1% SP 37.25%) และเบี้ยรับปีต่อไปเพิ่มขึ้น 11.12% (YoY) อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของธุรกิจที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้ฐานเบี้ยรับปีต่อไปจากช่องทางขายผ่านตัวแทน สูงกว่าช่องทางขายผ่านธนาคาร ประมาณกว่า 2 เท่าตัว จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แม้อัตราเพิ่มของช่องทางขายผ่านธนาคารจะสูงกว่าช่องทางขายผ่านตัวแทนมาก แต่ส่วนแบ่งตลาดรวมของธุรกิจจะปรับตัวไม่มากนัก แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตครึ่งหลังปี 2555 : แม้แรงส่งยังดี...แต่อาจเติบโตชะลอลงจากครึ่งปีแรก จากหลายปัจจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาพทิศทางธุรกิจประกันชีวิตในงวดครึ่งแรกปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวสูง โดยคาดว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมอาจเติบโต 17-20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เป็น 183,000-188,000 ล้านบาท ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจน่าจะปรากฏเด่นชัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ด้วยประมาณการเบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้น 66,000-71,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงฤดูขายก่อนปิดงวด อันถือเป็นช่วงสำคัญที่สุดที่ผู้แทนการขายทุกกลุ่มจะพร้อมใจกันเร่งผลิตยอดขาย ขณะที่ในงวดครึ่งปีหลัง หากไม่มีปัจจัยพิเศษที่ส่งผลกระทบรุนแรงเข้ามาแทรก โดยปกติ ธุรกิจประกันชีวิตจะมีขนาดเบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าในงวดครึ่งปีแรก ตามปัจจัยหนุนเพิ่มเติมที่สำคัญจากแรงซื้อเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตรักษาแรงส่งในลักษณะเดือนต่อเดือนไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการเติบโตสำหรับทั้งปี 2555 ไว้ที่ 13-15% จากผลของฐานที่สูงของปีก่อน (โดยเบี้ยประกันภัยรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยจำกัด ส่วนใหญ่เฉพาะกับการขายผ่านธนาคาร ขณะที่แรงผลักจากตัวแทนในระยะเวลาดังกล่าว ยังขยายตัวได้ดี) ตลอดจนสะท้อนมุมมองที่ระมัดระวังต่อหลายปัจจัยจับตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ 1. สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งยังยากที่จะหาทางออกที่เบ็ดเสร็จในอนาคตอันใกล้ ขณะที่ ยังมีรอบการครบกำหนดไถ่ถอนตราสารหนี้ของประเทศยุโรปชายขอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกลับมาสร้างความกังวลให้กับตลาด พร้อมทั้งบั่นทอนความเชื่อมั่น และการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปเอง เศรษฐกิจแกนหลักอื่นๆ ของโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต ทั้งนี้ หากสถานการณ์ดังกล่าว ให้ภาพในเชิงลบมากขึ้น ก็อาจกระทบต่ออำนาจซื้อและความต้องการซื้อประกันที่มีผลผูกพันระยะยาว ของผู้บริโภคไทยได้ 2. ความไม่แน่นอนของการเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ทั้งด้วยปัจจัยด้านจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่น และแรงส่งของความคืบหน้าของการผลิตและการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน 3. นโยบายการคงวงเงินคุ้มครองเงินฝากไว้ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท/บัญชี/ธนาคาร จากเดิมที่จะปรับลดวงเงินคุ้มครองเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 อันทำให้การชูประเด็นการลดวงเงินฝากคุ้มครอง เป็นหนึ่งในแรงกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของกลุ่มลูกค้าขนาดกลางขึ้นไปในช่วงครึ่งแรกของปีนั้น ลดบทบาทลง 4. สภาวะการแข่งขันระหว่างผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ ที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจยังมีแนวโน้มทรงตัว ตามความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนที่ยังคงปกคลุมอยู่ แต่คาดว่าภาวะการแข่งขันในตลาดเงินออมจะทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งผ่านการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ (เพื่อล็อคสภาพคล่องไว้รองรับการปล่อยสินเชื่อ และเพื่อการปรับโครงสร้างเงินทุนออกจากตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ที่ไม่ได้นับเป็นเงินกองทุนที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากเกณฑ์เงินสมทบเพื่อบริหารหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ) ตลอดจนการออกผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และตราสารหนี้จากภาครัฐเพื่อไฟแนนซ์การขาดดุลงบประมาณและโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งอาจทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเผชิญแรงกดดันจากการถูกเปรียบเทียบด้านผลตอบแทนมากขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ท่ามกลางกระแสแข่งขันชิงเงินออมในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 : ธุรกิจประกันเน้นส่งผลิตภัณฑ์ที่ตรงความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการผลักดันการขายผ่านพนักงานสาขา การเพิ่มตัวแทน และการเสริมแรงจูงใจนักขายแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า บริษัทประกันยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการออมและความคุ้มครองให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาแรงส่งการขยายตัวของธุรกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่คาดว่าจะเป็นตัวชูโรงที่โดดเด่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 คงจะได้แก่ - สะสมทรัพย์ : เน้นผลตอบแทนจากการออม สู้ผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะกลาง บริษัทประกันบางแห่งเริ่มนำผลิตภัณฑ์ประกันสะสมทรัพย์ระยะสั้นใหม่ออกขาย เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเงินออมที่มีฐานรายได้ขนาดกลางขึ้นไป และไม่หวังสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือได้ใช้สิทธิดังกล่าวเต็มวงเงินแล้ว เช่น แบบประกันที่มีระยะเวลา 5 ปี นำส่งเบี้ยประกัน 3 ปี (5/3) และ 3/2 เป็นต้น เพื่อสู้กับผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะกลาง อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า หากเทียบกับพอร์ทเบี้ยประกันชีวิตรวมแล้ว ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ อาจมีส่วนในการระดมเบี้ยประกันใหม่ได้ในวงจำกัด เนื่องจากบริษัทประกันที่เสนอขายมีน้อยราย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากข้อจำกัดในการจับคู่ (Matching) แหล่งลงทุนที่การันตีผลตอบแทนได้ไม่แพ้เงินฝาก และระยะเวลาของกรมธรรม์ที่สั้น อาจทำให้ผู้เอาประกันมองข้ามผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองชีวิต แต่จะมองในเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก ทำให้อาจถูกนำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม หรือแม้แต่เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้วในปีนี้[1] - แบบประกันระยะยาว : แต่งตัวใหม่ ลบภาพเบี้ยต่ำ หันจับกลุ่มลูกค้าเงินออมสูง แบบประกันระยะยาวที่คาดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เด่น ด้วยอัตราเติบโตสูงในปีนี้ ได้แก่ 1.ประเภทตลอดชีพ (Whole Life) โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบโจทย์ลูกค้าระดับกลางขึ้นไป ด้วยการกำหนดระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันสั้น เช่น 5 ปี (99/5) และเสริมสิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินคืนเข้ามา ขณะเดียวกัน ก็ยังคงตัวผลิตภัณฑ์เดิมที่เน้นความคุ้มครอง โดยไม่มีเงินคืนระหว่างสัญญา ประกอบกับมีระยะเวลาการส่งเบี้ยที่ยาวนาน สำหรับผู้เริ่มทำประกันที่มีกำลังในการส่งเบี้ยประกันไม่สูง ทำให้มีโอกาสขายข้ามกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และ 2. ประเภทบำนาญ (Pension) จากจุดเด่นเรื่องสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงถึง 200,000 บาท/ปี และฐานเบี้ยประกันรับรวมที่ต่ำเพียง 310 ล้านบาทในปี 2554 ขณะที่ไตรมาส 1/2555 ทำได้ถึง 179 ล้านบาท ในช่วงที่เหลือของปี จึงมีความเป็นไปได้ที่เบี้ยรับจากบำนาญจะเติบโตกว่า 2-3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ช่องทางการขายหลักอย่างธนาคารพาณิชย์ ที่มีนโยบายเชิงรุกในการหารายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ซึ่งแบบประกันระยะยาวจะให้อัตราค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าแบบประกันสะสมทรัพย์โดยทั่วไป โดยธนาคารสามารถใช้กลยุทธ์การขายแบบ Push Selling ชักชวนให้ลูกค้าซื้อแบบประกันที่เหมาะสมกับความสามารถในการจ่ายเบี้ยของลูกค้า ทั้งนี้ ยอดขายธุรกิจใหม่ในไตรมาส 1/2555 ได้สะท้อนความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ด้วยอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ที่สูงถึง 150.8% (YoY) และ 65.6% (YoY) ในกรมธรรม์ประเภทบำนาญ และตลอดชีพ ตามลำดับ ขณะเดียวกัน รายได้จากค่านายหน้าในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ไตรมาส 1/2555 เทียบกับไตรมาส 4/2554 ที่เพิ่มขึ้น 21% เป็นกว่า 4 พันล้านบาท ก็ได้สะท้อนภาพความสำเร็จของการขายผ่านธนาคารได้เป็นอย่างดี โดยผลิตภัณฑ์ประกันระยะยาวทั้งสองประเภทนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน จึงน่าจะมีโอกาสเติบโตในระดับสูงควบคู่กันไปได้ โดยสรุป ในจำนวนบริษัทประกันชีวิต 23 แห่ง มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เสนอขายแก่ประชาชนร่วม 400 แบบ แต่สำหรับผู้เอาประกันไทย ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์ที่มีลักษณะใกล้เคียงการออมเงินในระบบธนาคารพาณิชย์มากที่สุด ทำให้แบบประกันที่มุ่งเน้นความคุ้มครอง และ/หรือ ไม่มีการการันตีผลตอบแทน อย่างผลิตภัณฑ์ประเภทบำนาญ (Pension) จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ทั้งนี้ แม้ว่าความสามารถในการเพิ่มผลตอบแทนให้กับผลิตภัณฑ์สะสมทรัพย์ของบริษัทประกันแต่ละแห่ง จะขึ้นกับความสามารถและโอกาสในการบริหารผลตอบแทนจากการลงทุนที่แตกต่างกัน แต่ด้วยลักษณะผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท จึงอาจตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ไม่เหมือนกัน อีกทั้งเทคนิคการนำเสนอของตัวแทนขายที่เข้าถึงลูกค้าแต่ละราย อาจนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตที่หลากหลายไม่ได้ผูกติดอยู่กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2555 ที่เติบโตได้ถึง 16.2% (YoY) ประกอบกับยอดขายที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งถือเป็นฤดูขายของธุรกิจประกันชีวิต เนื่องจากเป็นการปิดงวดสำคัญที่ทุกบริษัทจะกระตุ้นยอดขายในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไม่ต่ำกว่า 20% (YoY) ได้ เมื่อมองต่อออกไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นั้น แม้คาดว่าธุรกิจน่าจะสามารถรักษาแรงส่งไว้ได้ต่อเนื่อง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ยังคงเป้าหมายอัตราการเติบโตรายปีของธุรกิจไว้ที่ 13-15% (โดยแรงส่งธุรกิจที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะจบปีด้วยตัวเลขเข้าหา 15% มากขึ้น) เพื่อสะท้อนมุมมองที่ระมัดระวังต่อหลากปัจจัยท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีอิทธิพลต่ออำนาจซื้อและการตัดสินใจซื้อประกัน ตลอดจนการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นกับผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ โดยเฉพาะแคมเปญเงินฝากพิเศษของธนาคารพาณิชย์ที่น่าจะออกมาหนาตาขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจทำให้ผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตดูด้อยลงในเชิงเปรียบเทียบ นั่นหมายความว่า นอกจากการอาศัยการขายผ่านพนักงานสาขา การเพิ่มตัวแทน และการเสริมแรงจูงใจนักขายแล้ว คาดว่าบริษัทประกันคงต้องเน้นกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละกลุ่มลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้สามารถปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย [1] กระนั้น ด้วยส่วนแบ่งการตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์ที่มียอดสะสมสูงถึง 48% ของเบี้ยประกันชีวิตรวม ประกอบกับจุดเด่นในการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนที่ชัดเจนคล้ายการฝากเงินกับธนาคาร บวกกับทัศนคติของคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นประโยชน์แง่การออมมากกว่าความคุ้มครอง ทำให้เชื่อว่าผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์จะยังเป็นจุดขายที่สำคัญต่อไป
แท็ก ประกัน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ