น้ำบาดาลโชว์ศักยภาพแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 3, 2012 18:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาทางวิชาการ “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร” ระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ และผู้แทนเกษตรกรจาก 12 พื้นที่โครงการนำร่อง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะการขยายผลโครงการนำร่องการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรมุ่งศึกษารูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกภูมิภาคของประเทศ สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชน การใช้ประโยชน์จากที่ดินการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ความต้องการใช้น้ำเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น หลายพื้นที่ในภาคการเกษตรที่มีชลประทานแล้วแต่ไม่สามารถกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึง ต้องอาศัยน้ำฝนเพื่อทำการเกษตร “น้ำบาดาล” กลายเป็นแหล่งน้ำทางเลือก ที่เกื้อหนุนภาคเกษตรกรรม โดยใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนร่วมกับน้ำผิวดิน พอหน้าน้ำก็ใช้น้ำผิวดิน น้ำฝน น้ำท่า ฤดูแล้งจึงหันมาใช้น้ำบาดาล แม้ว่าหน้าฝนทิ้งช่วงก็สามารถใช้น้ำบาดาลมาเสริมได้ และเพื่อให้การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้เป็นไปอย่างมีระบบ และมีการดำเนินงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้จัดทำโครงการนำร่องการศึกษาการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรเพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำบาดาลที่เหมาะสม ตามหลักวิชาการด้านอุทกธรณีวิทยา ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำบาดาลอย่างยั่งยืน สามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและชนิดของพืชที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค โดยดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 12 แห่ง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก ราชบุรี สระแก้ว อุดรธานี ยโสธร และสตูล ซึ่งการพัฒนาน้ำบาดาลมาใช้เพื่อการเกษตรได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ลักษณะตามศักยภาพของน้ำบาดาล คือ พื้นที่ศักยภาพน้ำบาดาลระดับตื้น โดยเจาะบ่อน้ำบาดาล 1 บ่อสามารถกระจายน้ำในพื้นที่ 10 ไร่ ส่วนพื้นที่ศักยภาพน้ำบาดาลระดับลึก 1 ระบบ ประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาล 2 บ่อ และหอถัง 1 จุด สามารถกระจายน้ำได้ในพื้นที่ 60 ไร่ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้ประสบผลสำเร็จ รวมถึงมีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ หรือมีการบริหารจัดการโดยชุมชนที่มีความโปร่งใสและเข้มแข็งได้ จำเป็นต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีภารกิจรับผิดชอบในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด รวมถึงเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรกับคุณภาพชีวิตเกษตรกร” เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี เพื่อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ และผู้แทนเกษตรกรจาก 12 พื้นที่โครงการนำร่อง จำนวนกว่า 200 คน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้แทนในทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้แทนเกษตรกรจาก 12 พื้นที่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้วางแผนขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดี แก่เกษตรกรในชุมชน โดยในปี 2556 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีแผนขยายรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร อีกจำนวน 175 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50 แห่ง ภาคเหนือ 40 แห่ง ภาคกลางและภาคตะวันออก 45 แห่ง และภาคใต้ 40 แห่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ