รายงานสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้าน Q2 และทิศทางครึ่งปีหลัง

ข่าวอสังหา Wednesday July 4, 2012 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สมาคมไทยรับสร้างบ้าน ภาวการณ์ทั่วไป สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Constructions Association: THCA) สำรวจความเห็นสมาชิกสมาคมฯทั่วประเทศ พบว่า 6 เดือนแรกปีนี้ (เดือนม.ค.-มิ.ย. 2555) ปริมาณและมูลค่ายอดจองสร้างบ้านโดยเฉลี่ยเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนเม.ย.-มิ.ย. 2554) และยอดจองสร้างในช่วงไตรสองที่ผ่านมา (เดือนเม.ย.-มิ.ย. 2555) เติบโตไตรมาสแรกประมาณร้อยละ 47 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางมีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน สะท้อนได้ว่าผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ คลายความกังวลกับปัญหาน้ำท่วมแล้ว และเมื่อสำรวจข้อมูลแยกตามรายภูมิภาคพบว่า ยอดจองสร้างบ้านในพื้นที่ภาคอีสานมีการเติบโตสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ยอดจองสร้างบ้านในเขตกทม.และปริมณฑล 6 เดือนแรกปีนี้เติบโตเพียงเล็กน้อย ซึ่งผลดังกล่าวเป็นไปตามที่สมาคมฯ คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ข้อมูลดังกล่าวยังชี้ให้เห็นว่า กำลังซื้อที่เติบโตในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา เป็นเพราะ 1)ผู้บริโภคเร่งตัดสินใจเนื่องจากกังวลว่าราคาบ้านจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2)กำลังซื้อผู้บริโภคที่เติบโตส่วนใหญ่มาจากตลาดใหม่หรือในต่างจังหวัด 3)ธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นที่รู้จักและยอมรับของผู้บริโภคทั่วประเทศมากขึ้น 4)ผู้บริโภคคลายความกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วมแล้ว ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยมีความสอดคล้องและสนับสนุนกันและกัน จึงส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าตลาดรวมรับสร้างบ้านขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะทิศทางการเติบโตมีแนวโน้มขยายตัวออกไปในต่างจังหวัดอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของผู้ประกอบการที่มีการปรับตัวก่อน และมุ่งขยายสู่ตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดอย่างจริงจัง สำหรับ ปริมาณและมูลค่าจองสร้างบ้านของสมาชิกสมาคมฯ ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สามารถแบ่งตามสัดส่วนออกได้ดังนี้ อันดับแรก ภาคอีสานมีสัดส่วนคิดเป็น 36% อันดับที่ 2 ภาคกลางมีสัดส่วนคิดเป็น 23% อันดับ 3 กรุงเทพฯ และปริมณฑลสัดส่วนคิดเป็น 15% ภาคใต้สัดส่วนคิดเป็น 15% และภาคเหนือสัดส่วน 11% ตามลำดับ ภาพการแข่งขัน สำหรับภาพรวมการแข่งขันของผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ตลอดช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมาไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยเฉพาะรายเล็กรายกลางที่แข่งขันอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่า มีกิจกรรมทางการตลาดออกมากระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคน้อยมาก จะมีก็เพียงบริษัทรับสร้างบ้านรายใหญ่ 2-3 รายเท่านั้น ที่ยังเน้นโฆษณาประชาสัมพันธ์และจัดโปรโมชั่น ลด แจก แถม ในช่วงท้ายไตรมาสสอง ในส่วนของผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในต่างจังหวัด กลับพบว่ามีการใช้โฆษณาและประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นการรับรู้และกำลังซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น โดยการแข่งขันทั่วๆ ไปไม่รุนแรงเท่าตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะว่าจำนวนผู้ประกอบการแข่งขันมีอยู่น้อยราย ภาพที่ปรากฏสะท้อนได้ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะรายเล็กๆ ที่แข่งขันอยู่ในกรุงเทพฯ อาจไม่พร้อมรุกทำตลาดในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา เนื่องจากต้องเผชิญกับการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และยังกังวลกับภาวะต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการที่รัฐบาลประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนปรับเพิ่มเพิ่มตามทันที ทั้งนี้ยังพบว่าบริษัทรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในตลาดส่วนใหญ่ มีการปรับราคาขายบ้านเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมเฉลี่ย 5-10% ในช่วงครึ่งปีหลัง แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้าน Q3 และแนวโน้มครึ่งปีหลัง ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านหรือยอดจองสร้างบ้านที่เติบโตในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ซึ่งอาจมองได้ว่ากำลังซื้อหรือความต้องการสร้างบ้านฟื้นตัวกลับมาแล้ว (หลังจากที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีก่อน) และน่าจะเติบโตต่อเนื่องในไตรมาสสามและครึ่งปีหลัง แต่สมาคมฯ มองว่ายังมีปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตลาดรับสร้างบ้านในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ได้แก่ วิกฤติหนี้ยูโรโซน ซึ่งอาจลุกลามและส่งผลกระทบกับประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะภาคธุรกิจส่งออกของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง ทั้งจากประเทศในแถบยุโรปและประเทศคู่ค้าสำคัญของยูโซน ฉะนั้นทิศทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง อาจมีปัญหาและส่งผลกระทบกับธุรกิจรับสร้างบ้านได้เช่นกัน แนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านในไตรมาสสามและครึ่งปีหลัง ยังเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะด้วยมีตัวแปรสำคัญๆ หลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบและทำให้กำลังซื้อชะลอตัว ซึ่งผู้ประกอบการควรเฝ้าระวังปัญหาที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น ทั้งวิกฤติหนี้ยูโรโซน ต้นทุนค่าแรงค่าวัสดุที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น จากการสำรวจข้อมูลและสอบถามความเห็นจากสมาชิกสมาคมฯ ยังพบว่า แม้แต่พื้นที่ภาคอีสานซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่หาแรงงานก่อสร้างได้ง่ายที่สุด ก็หนีไม่พ้นปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน สาเหตุเกิดจาก ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาฯ ในพื้นที่ภาคอีสานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาบูมมากๆ ส่งผลให้มีการแย่งชิงแรงงานกัน รวมทั้งภาคการเกษตรและสินค้าเกษตรราคาปรับตัวสูงขึ้น แรงงานบางส่วนจึงหันกลับไปเพาะปลูกและรับจ้างทำพืชไร่แทน เนื่องจากได้อัตราค่าจ้างสูงพอๆ กัน ปัจจัยข้างต้นถือเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคก่อสร้างและอสังหาฯ ทราบว่าปัญหาขาดแคลนจะรุนแรงมากขึ้น ในทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทยแล้ว สมาคมฯ ประเมินว่าหากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้ยูโรโซนไม่มากนัก เชื่อว่าตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีหลังจะสามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดหรือตลาดใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างและหาทางขยายโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการเองก็ไม่ควรประมาทและควรมีแผนสำรองไว้ หากไม่อาจหนีพ้นผลกระทบวิกฤติหนี้ยูโซนได้ สรุปภาพรวม นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า ปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านครึ่งปีแรกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เหตุผลสำคัญๆ เป็นเพราะกลุ่มผู้ประกอบการเองมีการปรับตัวที่ดี ทั้งในแง่การสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ การขยายพื้นที่ให้บริการสร้างบ้านได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศมากขึ้น การสร้างความน่าเชื่อถือด้วยมาตรฐานสินค้าและบริการ ฯลฯ แม้ว่ากำลังซื้อจะยังไม่ฟื้นตัวดีนักหลังจากประสบกับปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา ซึ่งนอกจากจะเป็นการปรับตัวรับมือกับการแก้ไขสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านที่ชะลอตัวลงก่อนหน้านี้แล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสและขยายการเติบโตในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย สำหรับปัจจัยที่รบกวนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคคือ ยังมีบริษัทรับสร้างบ้านที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่เป็นมืออาชีพ ปะปนอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้าน โดยมีผู้บริโภคที่เคยใช้บริการปลูกสร้างบ้านได้รับความเดือดร้อน ออกมาร้องเรียนต่อสื่อมวลชนและฟ้องร้องดำเนินคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า “สร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน” และ “สร้างบ้าน ไม่ได้บ้าน” โดยที่หน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องไม่อาจแก้ไขปัญหาใดๆ ให้แก่ผู้บริโภคได้ และร้ายแรงที่สุดคือ ผู้บริโภครู้สึกและเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพึ่งพาไม่ได้ เนื่องเพราะมองว่าไม่ได้จริงใจช่วยเหลือผู้บริโภค แต่เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยกันเองมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจรับสร้างบ้านเสียหายมาก จึงขอฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดออกมาแสดงความรับผิดชอบ พร้อมทั้งหาทางเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนโดยเร็ว เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมา ในส่วนของของสมาคมไทยรับสร้างบ้านนั้น ที่ผ่านมามีนโยบายที่จะมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิกให้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการยกระดับมาตรฐานสินค้าและการบริการ ในกลุ่มสมาชิกให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยแปรจากนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิเช่น กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจสื่อสาร สถาบันการเงิน และสื่อมวลชน ฯลฯ ริเริ่มโครงการจัดงานประกาศรางวัล HQA Award 2011 (Thai Home Constructions Quality Award 2011) ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเป็นการเชิดชูและยกย่องผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจดีเด่นในด้านต่างๆ ได้แก่ 1)ด้านผลประกอบการ 2)ด้านการตลาดและสร้างสรรค์ลูกค้า 3)ด้านการบริหารจัดการ และรางวัลมาตรฐานคุณภาพรับสร้างบ้านยอดเยี่ยมประจำปี ซึ่งโครงการดังกล่าวถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ความร่วมมือของสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรม และผลตอบรับของผู้บริโภคที่รู้สึกพึงพอใจที่เลือกใช้บริการสร้างบ้านกับสมาชิกสมาคมฯ สำหรับปี 2555 นี้ สมาคมฯ จะจัดงานดังกล่าวขึ้นอีกเช่นเคย ในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ณ อิมแพค เมืองทองธานี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ