รายงานฉบับใหม่ของยูเอ็นเอดส์ เผยข้อมูลล่าสุด แนวโน้มการแพร่ระบาดของ “เอดส์” ทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 7, 2004 12:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--ยูเอ็นเอดส์
ปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว ทวีปเอเชียมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านคน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้วถึง 38 ล้านคน และต้องการงบประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2550
โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ได้กล่าวเตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์เพิ่มขึ้นทุกแห่งทั่วโลก และในปีที่แล้วมีผู้ที่เพิ่งติดเชื้อเอชไอวีมากถึงห้าล้านคนซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากกว่าในปีก่อนๆ
ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในรายงานของยูเอ็นเอดส์ฉบับปี 2004 เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ทั่วโลกซึ่งจะเผยแพร่ในวันนี้ก่อนการประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 15 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11 — 16 ก.ค. พ.ศ. 2547 รายงานฉบับใหม่นี้นำเสนอภาพเกี่ยวกับโรคเอดส์ในปัจจุบันได้อย่างถูกต้องที่สุด ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากข้อมูลจากการสำรวจครอบคลุมทุกด้านในแต่ละประเทศ รวมถึงการปรับปรุงวิธีการคำนวณประมาณการผู้ติดเชื้อ
ผู้อำนวยการการบริหารยูเอ็นเอดส์ ดร.ปีเตอร์ ไพออท กล่าวในงานเปิดตัวรายงานยูเอ็นเอดส์ฉบับใหม่ต่อสื่อมวลชนว่า “ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของงบประมาณ นโยบายรัฐและความคืบหน้าในการเข้าถึงการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่การแพร่ระบาดของเอดส์ยังคงเพิ่มขึ้นรวดเร็วยิ่งกว่า” นับตั้งแต่การประชุม
โรคเอดส์นานาชาติปี พ.ศ.2544 ณ กรุงบาร์เซโลน่า มีประชากรมากกว่า 9 ล้านคนที่ติดเชื้อเอชไอวี
และ 6 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ ตัวเลขเหล่านี้สร้างความท้าทายอย่างมากกับการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอดส์และการรักษาผู้ติดเชื้อ”
“หากเรายังไม่เห็นว่า ‘เอดส์’ เป็นปัญหาสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและความมั่นคงของเรา เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี” ดร.ไพออท กล่าวเสริม
จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิม 35 ล้านคนในปี พ.ศ. 2544 เป็น
38 ล้านคนในปี พ.ศ. 2546 รายงานของยูเอ็นเอดส์ฉบับปัจจุบัน ระบุถึงแนวการแพร่ระบาดล่าสุด
ในระดับโลก และเป็นครั้งแรกที่มีการนำเสนอถึงอัตราการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้เพื่อเกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นในการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
นับเป็นครั้งแรกที่รายงานของยูเอ็นเอดส์ใช้วิธีการสำรวจอัตราที่เพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยเปรียบเทียบประมาณการใหม่ของปี พ.ศ. 2546 กับประมาณการในปี พ.ศ. 2544 วิธีการดังกล่าวถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนของการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ถึงแม้ข้อมูลใหม่จะแสดงถึงจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์ทั่วโลกน้อยกว่าประมาณการที่ผ่านๆ มา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็ยังคงไม่ลดลงและการแพร่ระบาดยังคงเติบโตตามประมาณการในปี พ.ศ. 2544 อย่างต่อเนื่อง
ดร.ไพออท กล่าวว่า “ขณะที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์การป้องกันหายนะจากโรคเอดส์ ทวีปเอเชียไม่ควรจะชักช้าอีกต่อไป ขณะเดียวกันทวีปแอฟริกาก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงเท่าๆกับทวีปเอเชีย ระดับการติดเชื้อเอชไอวีในแอฟริกายังคงเพิ่มขึ้น และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ”
แนวโน้มการแพร่ระบาดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก
ใน 1 ปีที่ผ่านมา ทวีปเอเชียมีประชากรจำนวนถึง 1.1 ล้านคนที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากกว่าปีที่ผ่านๆมา การแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในเอเชียนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในประเทศจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีประชากรถึง 60% ของประชากรโลก การแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทวีปเอเชียจึงมีผลกระทบต่อโลกอย่างมาก
อินเดียซึ่งคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 5.1ล้านคนซึ่งนับเป็นจำนวน 1 ใน 7 ของผู้ติดเชื้อ เอชไอวีทั้งหมดทั่วโลก เป็นประเทศนอกแอฟริกาที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุด
ในทวีปแอฟริกาแถบซับซาฮารา มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 25 ล้านคน แม้ระดับการแพร่ระบาดของโรคจะดูเหมือนคงที่ แต่การที่ระดับการแพร่เชื้อไม่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวีที่เพิ่มมากขึ้นเท่าๆ กับจำนวนของผู้ที่เพิ่งติดเชื้อใหม่
ในละตินอเมริกามีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 1.6 ล้านคน การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีมีความหนาแน่นในกลุ่มประชากรผู้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดและชายรักร่วมเพศ เนื่องจากอัตราการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เกิดการมองข้ามการแพร่เชื้ออชไอวีที่ร้ายแรงที่มักเกิดขึ้นในท้องถิ่น เช่น ในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในทวีปละตินอเมริกา มีอัตราการแพร่เชื้อเอชไอวีของทั้งประเทศนั้นต่ำกว่า 1% แต่ในบางเมือง มีผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดได้รับเชื้อเอชไอวีถึง 60 %
ทวีปยุโรปตะวันออกและเอเชียตอนกลางยังคงมีระดับการแพร่เชื้อเอชไอวีที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันยุโรปตะวันออกและเอเชียตอนกลางมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 1.3 ล้านคน ประเทศรัสเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดมากกว่า 3 ล้านคนยังคงเป็นหนึ่งในประเทศแถบยุโรปตะวันออกและเอเชียตอนกลางที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากไวรัสเอชไอวี อัตราที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ติดเชื้อใหม่ส่วนใหญ่สืบเนื่องจากจำนวนผู้หญิงที่ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นจากหนึ่งในสี่ในปี พ.ศ. 2544 เปลี่ยนเป็นหนึ่งในสามในปีถัดมา แต่สิ่งที่น่าตกใจที่สุดคือ 80% ของผู้ติดเชื้อมีอายุต่ำกว่า 30 ปี และกลุ่มผู้ติดเชื้อนี้มักไม่ใช้ถุงยางอนามัย ในทางตรงกันข้าม ในทวีปอเมริกาเหนือและ ยุโรปตะวันตกกลับมีผู้ติดเชื้อที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีเพียง 30%
นอกจากนี้ รายงานยูเอ็นเอดส์ยังพบว่าการติดเชื้อเอชไอวีในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตก อยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้น ในสหรัฐอเมริกาคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 950,000 คนเพิ่มขึ้นจาก 900,000 คนในปี พ.ศ. 2544 และครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อใหม่ในปีที่ผ่านๆมาเป็นแอฟริกัน — อเมริกัน ในยุโรปตะวันตกมีผู้ติดเชื้อ 580,000 คนเพิ่มจาก 540,000 คนในปี พ.ศ. 2544
กองทุนเอดส์โลก (Global Aids Funding)
เพื่อให้ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รายงานยูเอ็นเอดส์จึงเผยแพร่ประมาณการใหม่เกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่มีความจำเป็นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในโลกที่กำลังพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นครั้งแรกที่ประมาณการใหม่แสดงข้อมูลที่ได้จากประเทศ 78 ประเทศซึ่งส่วนมากเป็นประเทศแนวหน้าในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเอดส์
แม้ว่าค่าใช้จ่ายทั่วโลกในการต่อสู้กับเอดส์จะเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า คือ จาก 300 ล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2539 เป็นเกือบ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2546 แต่เงินจำนวนนี้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ต้องใช้ในปี พ.ศ. 2548 ในประเทศกำลังพัฒนา จากประมาณการค่าใช้จ่ายใหม่ จะเห็นว่าจะต้องใช้จำนวนเงินถึง 12 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2548 (เพิ่มขึ้นจาก 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และจำนวน 20 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี พ.ศ. 2550 ในการป้องกันและดูแลประเทศรายที่มีรายได้ต่ำและรายได้ระดับกลาง
และคาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐในการให้การซื้อยาต้านเชื้อเอดส์ (antiretroviral therapy: ART) กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีหกล้านกว่าคน (มากกว่า 4 ล้านคนในทวีปแอฟริกาแถบซับซาฮารา), การให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้า 22 ล้านคน, อาสาสมัครให้คำปรึกษาเรื่องเอดส์และตรวจเอดส์ในผู้ใหญ่ จำนวน 100 ล้านคน, การให้การศึกษาเรื่องเอดส์ตามโรงเรียนแก่นักเรียน 900 ล้านคน และการบริการให้คำปรึกษานอกโรงเรียนแก่หนุ่มสาว 60 ล้านคน โดยทวีปแอฟริกาแถบซับซาฮาราต้องการเงิน 43%ของงบประมาณนี้, ทวีปเอเชียต้องการ 28%, ละตินอเมริกาและคาริบเบียน 17%, ทวีปยุโรปตะวันออก 9% และแอฟริกาเหนือและแถบตะวันออกใกล้ 1%
การให้เงินทุนการต่อสู้เอดส์จะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องเพราะแต่ละประเทศต้องใช้งบประมาณไปในการพัฒนาประเทศและทั้งในระดับมูลฐานและระดับนานาชาติ ดังนั้น การรวบรวมเงินทุนต้องการผู้นำที่มีประสิทธิภาพและแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างมั่นคงในด้านการเงิน
ข้อเรียกร้องในการรักษาและการป้องกัน
การได้รับสิทธิเข้ารักษาของผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าที่เพิ่มมากขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศกำลังพัฒนาเพียง 7% ที่ได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ซึ่งนับเป็นจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 10 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก
ในฐานะที่เป็นองค์กรให้คำแนะนำด้านปัญหาสุขภาพ ยูเอ็นเอดส์, องค์การอนามัยโลก (WHO) และ
พันธมิตรได้ตกลงทำสัญญาให้ความร่วมมือเพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนสามล้านคนได้รับยาต้านไวรัสก่อนปี พ.ศ. 2548 หรือเรียกว่า “มาตรการ 3 x 5” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์การรักษาเชื้อเอชไอวีที่มีจุดหมายสูงสุดคือพยายามให้ผู้ติดเชื้อทุกคนมีสิทธิเข้ารับการรักษา ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 56 ประเทศ
การเพิ่มสิทธิการเข้ารับการรักษาโรคเอดส์ช่วยส่งเสริมให้มีการทดสอบสถานภาพเชื้อเอชไอวีแก่ผู้ติดเชื้อ นอกจากนั้นยังจะช่วยลดการที่ผู้ติดเชื้อถูกดูหมิ่นและแบ่งแยก และยังเป็นการให้บริการการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพแก่ผู้ติดเชื้อนับล้าน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศที่กำลังพัฒนามีผู้ติดเชื้อเพียง 1คนใน 9 คนที่ได้เข้ารับการรักษาซึ่งนับว่ายังคงห่างไกลจากเป้าหมายมาก
ดร.ไพออทกล่าวว่า “ปัจจุบันมีเพียง 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่สามารถเข้าถึงการรักษาและการบริการป้องกันโรคเอดส์ เราต้องพยายามอย่างมากในการรณรงค์เพิ่มสิทธิการเข้ารับการรักษาเอดส์ระดับโลกและการให้บริการการป้องกันเอดส์ ที่สำคัญกว่านั้นคือ พยายามให้มีการรวมมาตรการเหล่านี้ไว้ด้วยกัน”
อุปสรรคและสิ่งท้าทายต่างๆ อุปสรรคในการต่อสู้เอดส์ คือ การถูกกีดกันและแบ่งแยกอันสืบเนื่องจากโรคเอดส์ การขาดแคลนของบุคลากรและองค์ความรู้ และการขาดการประสานงานกับผู้ให้ทุน
การถูกกีดกันและแบ่งแยกนั้นถือเป็นอุปสรรคประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศผู้ให้ทุนระงับการให้ทุนแก่ประเทศที่มีความต้องการ ในบางประเทศในกลุ่มละตินอเมริกาและเอเชียไม่ได้ให้ความร่วมมือกับการป้องกันเอดส์ในกลุ่มผู้ติดยาและกลุ่มชายรักร่วมเพศซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในแถบนี้
หลายประเทศในทวีปแอฟริกาใต้กำลังประสบปัญหาการให้บริการเกี่ยวกับโรคเอดส์แก่ประชาชน ทั้งนี้เป็นผลมาจากสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาการโยกย้ายเจ้าหน้าที่จากส่วนของรัฐมายังเอกชน การโยกย้ายไปยังต่างประเทศ ไปจนถึงผลกระทบอันรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี
จากการที่มีเงินทุนเอดส์และองค์กรด้านเอดส์เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเตรียมการรับมืออย่างเร่งด่วน
กับกระแสตอบรับโรคเอดส์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละประเทศ เพื่อรณรงค์หาทุนเอดส์ ยูเอ็นเอดส์ได้เข้าร่วมมือกับประเทศผู้ให้ทุน อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฯลฯ เพื่อรวบรวมเงินทุน และเรียกแผนการนี้ว่า “The Three Ones” กล่าวคือ แผนการนี้จะประกอบด้วยหนึ่งแผนการเอดส์แห่งชาติ หนึ่งอำนาจบังคับบัญชาเอดส์แห่งชาติ และระบบการตรวจตราและประเมินผลในแต่ละประเทศ
ดร.ไพออทกล่าวว่า “การสนับสนุนการประสานงานระหว่างกลุ่มประเทศผู้ให้ทุนเป็นหัวใจในการช่วยชีวิตหลายชีวิตในประเทศที่กำลังพัฒนา เราต้องต่อสู้อย่างหนักกว่าจะรวบรวมเงินทุนเหล่านี้มาได้ ดังนั้นเราต้องพยายามใช้เงินก้อนนี้อย่างฉลาดที่สุด ให้คุ้มกับที่เราฝ่าฟันมา”
ข้อเท็จจริงและตัวเลขรอบโลกประจำปี พ.ศ. 2547
ในปี พ.ศ. 2548 จำเป็นต้องมีเงินจำนวน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์ในประเทศกำลังพัฒนา แต่เงินค่าใช้จ่ายทั่วโลกประจำปีขณะนี้มีน้อยกว่าครึ่งของจำนวนเงินที่ต้องการ (ต่ำกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปี พ.ศ. 2550 คาดว่าจะต้องการเงินประมาณ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทวีปเอเชียซึ่งมีจำนวนประชากร 60% ของประชากรโลกเป็นทวีปที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีที่รวดเร็วที่สุดในโลก ในปี พ.ศ. 2546 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีใหม่เพิ่มขึ้นทั้งหมด 1.1 ล้านคนซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบหนึ่งปีของจำนวนผู้ติดเชื้อในทวีปเอเชีย
แม้ว่าแอฟริกาจะเป็นทวีปที่มีประชากรเพียง 10% ของประชากรโลก แต่แอฟริกากลับเป็นทวีปที่มี ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงถึง 70% ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก หากระดับการติดเชื้อเอชไอวียังคงสูงเช่นนี้ต่อไปโดยที่ผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษานั้นส่งผลให้ 60% ของผู้ติดเชื้อที่มีอายุ 15 ปีในปัจจุบันจะมีอายุ ไม่ถึง 60 ปี
มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกือบ 38 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านคนในปี พ.ศ. 2544 และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์กว่า 20 ล้านคนใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
นับตั้งแต่การประชุมเอดส์โลกที่กรุงบาร์เซโลน่าในปี พ.ศ. 2545 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มอีก 9.2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวน 5.6 ล้านคน
คาดว่ามีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทั่วโลกจำนวน 15 ล้านคนที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ และในจำนวนนี้มี 12 ล้านคนที่อยู่ในทวีปแอฟริกาแถบซับซาฮารา
เกือบครึ่งของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นผู้หญิงและ 57%อยู่ในทวีปแอฟริกาแถบซับซาฮารา
ในจำนวนหนุ่มสาวที่ติดเชื้อเอชไอวี 10 ล้านคนทั่วโลก 6.2 ล้านคนอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบ ซับซาฮาราซึ่งในจำนวนนี้ 75% เป็นผู้หญิง
โครงการการป้องกันโรคเอดส์บรรลุเป้าหมายน้อยกว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษา หากมีการป้องกันที่ครอบคลุมมากขึ้น จะมีผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 29 ล้านคน จากที่คาดไว้ถึง 45 ล้านคนในปี พ.ศ. 2553
การจัดหาถุงยางอนามัยขณะนี้มีจำนวนน้อยกว่าที่ต้องการจริงถึง 40% และในปี พ.ศ. 2558 คาดว่าจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยถึง19 พันล้านชิ้นในการป้องกันการติดเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ระดับกลาง มีผู้ติดเชื้อ 5 - 6 ล้านคนที่ต้องการเข้ารับการรักษา แต่ปรากฏว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพียง 7% หรือ 400,000 คนที่ได้รับการรักษา
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
เพ็ญศรี ทรรศนะวิเทศ มือถือ 01 — 810 5101
Dominique De Santis, UNAIDS, Geneva, มือถือ 01 — 250 0882
Abby Spring, UNAIDS, Geneva, มือถือ 01 — 250 0874
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNAIDS: www.unaids.org--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ