กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--Drama Arts Chula
“ลังกาสิบโห” ละครเวทีร่วมสมัยที่นำศิลปะการแสดงการเต้นโขนและศิลปะการฟ้อนเจิงมาผสมผสานกัน ละครเรื่องนี้สร้างสรรค์ขึ้นจากหนังสือที่ชื่อว่า “ลังกาสิบโห” ซึ่งก็คือเรื่อง “รามเกียรติ์” ฉบับไทลื้อ ละครเรื่องนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยเรื่อง “รามเกียรติ์: ก้าวหน้าจากรากแก้ว” ของคณาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ละครเรื่องอื่น ๆ ในโครงการนี้ ได้แก่ “ยกรบ” “นางร้ายในลงกา” และ “ราพณาสูร”)
คนส่วนมากเข้าใจว่า “รามเกียรติ์” เป็นเรื่องการสู้รบระหว่างพระราม (ตัวแทนของความดี) กับทศกัณฐ์ (ตัวแทนของความชั่ว) และผลสุดท้ายความชั่วร้ายก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความดีงาม เรื่องราวของ ”ลังกาสิบโห” ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้เท่าไรนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจใน “ลังกาสิบโห” ก็คือ เรื่องของธนูดวงใจที่ท้าวมหาพรหมมอบให้แก่ภุมมจัก (ทศกัณฐ์ ใน “ลังกาสิบโห”) ซึ่งไปสอดคล้องกับตำนานการกำเนิดมนุษย์ของชาวไทลื้อ เรื่องของปู่สังกะสากับย่าสังกะสี ย่าได้ถามปู่ว่าในโลกนี้อะไรสว่างที่สุดและอะไรมืดที่สุด
ปู่ครุ่นคิดอยู่นานกว่าจะตอบได้ว่า สิ่งที่สว่างที่สุดก็คือใจมนุษย์ และสิ่งที่มืดที่สุดก็คือใจมนุษย์เช่นกัน ในการตีความของ งานร่วมสมัยชิ้นนี้ธนูดวงใจในเรื่อง “ลังกาสิบโห” ก็คือสัญลักษณ์ของสิ่งที่สว่างที่สุดและมืดที่สุด การที่ภุมมจักไม่เก็บธนูดวงใจไว้กับตัว ทำให้เขาไม่มีสิ่งที่มาคอยยับยั้งชั่งใจ จึงได้กระทำเรื่องเลวร้ายลงไป
ในกระบวนการสร้างสรรค์ละครเรื่องนี้ (ตามทฤษฎี Devised Theatre) รศ.พรรัตน์ ดำรุง หรือ “ครูอุ๋ย” ได้ให้นิสิตนักแสดงที่เข้าร่วมพัฒนางาน (เยาวชนที่ศึกษาศิลปการละคร) เริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน จากคำถาม เช่น “คำว่า สิบหัว หมายความว่าอะไร” “ปัญหาเด็กในสังคมปัจจุบันที่ปรากฏในสื่อมีอะไรบ้าง” “คนที่ไม่มีใจอยู่กับตัวจะเป็นคนอย่างไร” เป็นต้น จากนั้นจึงนำเรื่องลังกาสิบโหและประเด็นต่างๆ ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนกันของนักแสดง รวมทั้งเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตจริงของนักแสดงมาร้อยเรียงกับเรื่องจากไทลื้อ จนได้เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งเย้ายวนใจในสังคมปัจจุบันที่มีอยู่มากมาย และนับวันก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การสร้างสรรค์งานชิ้นนี้เป็นการร่วมมือของนิสิตภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรฯ จุฬาฯ และและนักศึกษาวิชาดนตรีจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในฐานะที่ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรฯ จุฬาฯ เป็นสถาบันเดียวในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ UNESCO-Chair International Theatre Institute’s Asia-Pacific Bureau of Theatre Schools (APB) ละครเวทีร่วมสมัยเรื่อง “ลังกาสิบโห” จึงได้รับเชิญให้ไปแสดงในเทศกาล 2012 Asia-Pacific Bureau of Theatre Schools Festival and Directors Conference ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม — 6 กันยายน 2555 ที่ Taipei National University of Arts กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน
ละครเวทีร่วมสมัย “ลังกาสิบโห” จะจัดแสดงรอบพิเศษที่เมืองไทยในวันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม 2555 เวลา 17:00 น. และวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555 เวลา 17:00 น. และ 19.30 น. (การแสดงยาวประมาณ 1 ชั่วโมง และมีการเสวนากับนักแสดงและคณะทำงานหลังการแสดงทุกรอบ) ณ ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล (ชั้น 6 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรฯ จุฬาฯ มีที่จอดรถภายในอาคาร หรือเดินจากสถานีรถไฟฟ้าสยาม ตามถนนอังรีดูนังต์ประมาณ 10 นาที)
รับบัตรเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ห้อง 809 อาคารบรมราชกุมารี หรือโทร.จองบัตรล่วงหน้าที่ 0 2218 4802 หรือ 08 1559 7252 รายละเอียดเพิ่มเติมที่ facebook “Drama Arts Chula” และDramaArtsChula1971@gmail.com
สอบถามเพิ่มเติมที่:
0 2218 4802 หรือ 08 1559 7252
facebook : “Drama Arts Chula” และ DramaArtsChula1971@gmail.com