กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กรมการแพทย์
แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหา ภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม วาตภัย สึนามิ บ่อยครั้งขึ้น ภัยพิบัติแต่ละครั้งส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตและเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ดำเนินการพัฒนาชุดปฏิบัติการแพทย์สนามฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ ( Medical Emergency Response Team: MERT ) หรือเรียกว่า “ทีมเมิร์ท” ให้มีประสิทธิภาพเป็นมาตรฐานสากล ทีมเมิร์ทเป็นชุดปฏิบัติการที่มีศักยภาพความพร้อมสูง คล่องตัวทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ สามารถออกเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเมื่อได้รับการร้องขอจากพื้นที่ประสบภัย หรือการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาภายใน 6 ถึง 12 ชั่วโมง ปัจจุบันทั่วประเทศมีชุดเมิร์ทจำนวน 14 ชุดอยู่ในกรุงเทพมหานครที่โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 7 ชุด อีก 7 ชุดอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ 7 จังหวัด ได้แก่พระนครศรีอยุธยา ลำปาง ชลบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี และสระบุรี โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โดยตั้งเป้าขยายให้ครบ 18 เขตตรวจราชการอย่างน้อยเขตละ 1 ทีม ภายในปี 2556 ทีมเมิร์ท 1 ทีมจะประกอบด้วย รถพยาบาล 1 คัน บุคลากรทางการแพทย์ 16 คน คือ แพทย์ 1 คน พยาบาลฉุกเฉิน 4 คน เจ้าหน้าที่กู้ชีพหรือเวชกรฉุกเฉิน 6 คน เภสัชกร 1 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่สนับสนุนอื่น ๆ ทีมเมิร์ทมีคุณสมบัติเฉพาะตัว 3 ประการคือ 1. มีความพร้อม ในการปฏิบัติการฉุกเฉินสามารถทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ หน่วยทหาร อาสาสมัครอื่น ๆ ภายใต้ระบบสั่งการในภาวะฉุกเฉิน 2. สามารถดำรงชีพอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติไม่รบกวนทรัพยากรของท้องถิ่นโดยจะเข้าพื้นที่พร้อมยา เวชภัณฑ์ รวมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นเช่น เต็นท์สนาม เครื่องยังชีพ วิทยุสื่อสาร เครื่องปั่นไฟ 3. สามารถคัดแยกดูแลช่วยชีวิตขั้นตนแก่ผู้ป่วย ที่มีอาการรุนแรงเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหรือมีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงพร้อมกันเป็นจำนวนมากให้ปลอดภัย และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลได้อย่างเหมาะสม
อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี2555 กรมการแพทย์ ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยจัดทำโครงการบูรณาการเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ มีการจัดอบรมและพัฒนาบุคลากรทีมเมิร์ทจากหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ได้แก่ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานนำร่อง ในกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์ 7 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 34 ทีม โดยจัดอบรมภาคทฤษฎีระหว่างวันที่ 12 — 17 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และฝึกซ้อมภาคสนามระหว่างวันที่ 8 — 10 มิถุนายน 2555 ณ วัดเขาอีโต้ และพื้นที่อ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้บุคลากรมีความพร้อม ในการปฏิบัติการฉุกเฉินสามารถทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการภายใต้ระบบการสั่งการ ( ICS ) ในภาวะฉุกเฉิน สามารถดำรงชีพในภาวะภัยพิบัติ ป้องกันตนเองจากภัยที่อาจเกิดขึ้น ปฏิบัติการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและพิจารณาการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลระดับตติยภูมิได้อย่างเหมาะสม
ผลจากการฝึกภาคสนามพบว่าทีมเมิร์ทได้ผ่านการทดสอบในสถานการณ์ที่คล้ายจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสามารถปฏิบัติภารกิจในภาวะวิกฤติที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดีในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. สามารถระดมกำลังเพื่อรวมตัวในการออกไปปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็ว
2. สามารถปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในสถานการณ์นั้น ๆ
3. สามารถดำรงชีพได้ในภาวะแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัด
4. มีความรู้ในการระวังภัยที่อาจเกิดขึ้น
5. สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินความต้องการและขอความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
6. สามารถจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังในสภาวะฉุกเฉินรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
7. สามารถดูแลรักษาผู้ป่วยโดยให้ความสำคัญของความเร่งด่วนตามหลักเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
8. สามารถตัดสินใจส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและดำเนินการประสานติดตามผู้ป่วยจนถึงที่หมาย
9. บุคลากรแต่ละคนรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนและปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง
10. ดูแล เคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
11. สามารถลำเลียงผู้ป่วยในรูปแบบต่างๆ เช่น ทางหน้าผา ลำธาร โดยเน้นผลลัพธ์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ
12. มีทักษะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์และเวชภัณฑ์ด้านการแพทย์
13. มีทักษะในการใช้เครื่องมือสื่อสารและวิธีการสื่อสาร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์กรมการแพทย์ 0-25912854