กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--สสวท.
การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ (International Chemistry Olympiad: IChO) เป็นการแข่งขันเคมีของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา และเป็นหนึ่งในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ โดยเริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกที่เมืองปราก ประเทศเชกโกสโลวาเกีย ในปี พ.ศ. 2511 และได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปียกเว้นปี พ.ศ. 2514 ที่ได้มีการงดการจัดการแข่งขัน
ผลการเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศปีที่แล้ว ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 70 ประเทศ ผู้แทนประเทศไทยสามารถคว้า 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน ส่วน การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ หรือ โอลิมปิกวิชาการ สาขาเคมีในปี พ.ศ. 2555 นี้ จัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 21 - 30 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยคณะผู้แทนประเทศไทยจะออกเดินทางในวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2555 เที่ยวบิน NH 916 เวลา 23.55 น. โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จะจัดพิธีส่งในเวลา 21.00 น. ณ ชั้น 4 ด้านในประตูที่ 1 ตรงซุ้มการบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ ผู้แทนประเทศไทยทั้ง 4 คนพร้อมแล้ว ที่จะเดินทางไปชิงชัยในเวทีโลกดังกล่าว
นายจิรทีปต์ ปรัชญาธรรมกร หรือ บูม วัย 16 ปี ชั้น ม. 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของรางวัลชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาเคมีระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ครั้งที่ 32 ประจำปีการศึกษา 2554 ได้เตรียมพร้อมโดยทำโจทย์ข้อสอบปีก่อน ๆ อ่านหนังสือหัวข้อที่ยังไม่พร้อม และที่ต้องการรู้เพิ่มเติม คิดเสมอว่า “เราต้องทำให้เต็มที่ที่สุด ให้สมกับที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้ “ รู้สึกภาคภูมิใจและดีใจมาก
“เมื่อตอนที่ผมเริ่มรู้จักโครงการนี้จากข่าวสารทางโทรทัศน์ ทำให้ผมเกิดความมานะในการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเมื่อได้มีโอกาสเข้าโครงการนี้ ผมยิ่งสนใจวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์มากขึ้นเป็นอย่างมาก อยากรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ อยากหาคำตอบต่อในปัญหาที่พบในการเรียน นับเป็นความท้าทาย ผมชอบเคมี เพราะสนใจและหลงไหลในเนื้อหา ชอบฟิสิกส์เพราะใช้ได้มากในชีวิตจริง ทำโจทย์แล้วสนุก ชอบชีววิทยา เพราะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเรา ชอบคอมพิวเตอร์ เพราะชอบเขียนโปรแกรมภาษาซี และชอบดนตรี เพราะทำให้ผ่อนคลาย” นายจิรทีปต์ ปรัชญาธรรมกร กล่าว
นายธรรศ อยู่สุนทร หรือ แม็กซ์ วัย 16 ปี ชั้น ม. 5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งได้เหรียญเงินกลับมาจากการไปร่วมแข่งขันเคมีโอลิมปิกที่ประเทศตุรกีเมื่อปีที่แล้ว เล่าถึงการเตรียมความพร้อมของตนเองว่ามีการแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือให้ชัดเจน มีเป้าหมายว่าภายใน 1 วัน จะอ่านให้ได้กี่ชั่วโมง บางทีเราอามองเป็นเรื่องไม่สำคัญ แต่ถ้าไม่แบ่งเวลา ไม่มีจุดหมาย เราก็จะไม่ใส่ใจที่จะทำ สุดท้ายก็จะทำตามเป้าไม่ได้ ใน 1 วันไม่ควรอ่านหนังสือตลอดเวลา ถ้าเหนื่อยก็ต้องหยุดพัก อาจจะร้องเพลงบ้าง เล่นเกมบ้าง คุยกับคุณพ่อคุณแม่ กับเพื่อน หากมีวินัยก็จะประสบความสำเร็จ “รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากๆ ครับ ความตั้งใจในปีนี้คืออยากได้เหรียญทอง เพราะปีที่แล้วได้เหรียญเงิน ปีนี้ผมจึงตั้งใจเป็นพิเศษ”
นายณัฐพล เจริญศิริวัฒน์ หรือ ฟลุค วัย 16 ปี ชั้น ม. 4 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เจ้าของรางวัลเหรียญทอง เคมีโอลิมปิกระดับชาติ ปี 2554 กล่าวว่า เมื่อผมรู้ว่าได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ก็รู้สึกดีใจครับ และก็อยากขอบคุณทุกๆ คนที่ช่วยเหลือและให้กำลังใจทั้งอาจารย์ เพื่อนในค่ายอบรม เพื่อนที่โรงเรียน ครอบครัวและญาติๆ สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ผมตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด มีสมาธิกับมัน ได้เตรียมความพร้อมโดยทบทวนเนื้อหาความรู้ที่เรียนมาแล้ว เสริมหัวข้อใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยรู้ ทำโจทย์ตัวอย่างและโจทย์ปีก่อนๆ ของการแข่งขัน โดยจับเวลาและนั่งทำแบบฝึกหัดเหมือนการสอบจริง แบ่งเวลาเพื่อใช้พักผ่อน และเมื่อถึงเวลาฝึกฝนก็จะทำให้ดีที่สุดโดยไม่พะวงถึงผลล่วงหน้า เมื่อรู้สึกเครียดก็จะเปลี่ยนมาทำกิจกรรม เช่น เล่นบาสเกตบอล ฟังเพลง ดูฟุตบอล เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ไม่ใช้เวลาอยู่กับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป เมื่อเราดีขึ้นแล้ว ก็กลับมาอ่านหนังสือ ทำโจทย์ต่อ
“ผมคิดว่าโครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ ช่วยให้เด็กๆ ที่สนใจ ชื่นชอบ และมีความสามารถในวิชานั้น ๆ ได้เรียนรู้เนื้อหาที่แปลกใหม่ เนื้อหาที่ยากขึ้นกว่าในห้องเรียน และได้พัฒนาศักยภาพมากขึ้น ผมคิดว่าโครงการนี้ ช่วยให้นักเรียนเพียงส่วนหนึ่งสนใจมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่นักเรียนส่วนใหญ่ เพราะหลายคนคิดว่าเนื้อหายากเกินไป แต่ผมคิดว่าถ้าตั้งใจก็จะได้อะไรหลายอย่างจากโครงการนี้” นายณัฐพล เจริญศิริวัฒน์ กล่าว
นายธนวัฒน์ อรรถชัยพานิช หรือ เบิร์ด วัย 18 ปี ชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เจ้าของเหรียญทองจากการแข่งขันเคมีโอลิมปิกจากประเทศตุรกีเมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า ดีใจที่ได้รับโอกาสเป็นผู้แทนประเทศไทย ได้ตั้งใจอ่านหนังสือและทำตัวเองให้พร้อมที่สุด เพื่อที่จะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยในเวทีนานาชาติ พร้อมกันนั้นได้เล่าถึงเทคนิคในการเรียนว่า เมื่อเกิดข้อสงสัยในสิ่งที่เรียนก็จะเริ่มจากการคิดวิเครคาะห์จากความรู้พื้นฐานที่มีอยู่ก่อน แล้วจึงปรึกษาแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหากับอาจารย์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการค้นหาความรู้ใหม่ ๆ ก็จะค้นคว้าจากหนังสือตำราคู่มือที่หลากหลายและสื่อออนไลน์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
ขอเชิญชวนชาวไทยร่วมเป็นกำลังใจให้แก่ผู้แทนประเทศไทยในการชิงชัยโอลิมปิกวิชาการ