ปตท.-ธนาคารออมสิน-เอสเอ็มอีแบงก์ ลงนามโครงการบัตรเติมก๊าซเอ็นจีวี

ข่าวทั่วไป Wednesday July 7, 2004 17:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--ปตท.
ให้สินเชื่อ เสนอทางเลือกติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซฯ มูลค่า 50,000-63,800 บาท แก่ผู้ประกอบการแท็กซี่ โดยไม่เสียดอกเบี้ย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รถแท็กซี่ที่สนใจใช้ก๊าซเอ็นจีวี ตั้งเป้าแท็กซี่เข้าร่วมกว่าหมื่นตัน
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2547) ที่โรงแรมเซ็นทรัลโซฟิเทลพลาซา กรุงเทพฯ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการร่วมดำเนินโครงการบัตรเติมก๊าซเอ็นจีวี ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสินและธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์ โดยนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นผู้ลงนามฯ กับ นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์
นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีราคาสูง และมีแนวโน้มต่อเนื่องในระยะยาว การรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้
สำหรับมาตรการระยะยาวที่จะรับมือกับสถานการณ์พลังงานในกรณีที่ราคาน้ำมันสูงต่อเนื่องนั้น คือการหาพลังงานทางเลือกเพื่อเป็นพลังงานทดแทนให้กับประเทศ นอกจากเอทานอลและไอโอดีเซลแล้ว การนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ในยานพาหนะ ที่เรียกว่าก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicles) โดยเฉพาะกับรถสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ จะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำมันลงไปได้มาก และจะลดค่าเชื้อเพลิงซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักของผู้ประกอบการได้ เพราะก๊าซ NGV ราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซิน มากกว่า 50% นอกจากนี้ยังเป็นพลังงานสะอาด มีความปลอดภัยสูง รวมทั้งมีมลพิษน้อกว่าเชื้อเพลิงอื่น นับว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมอย่างมากในขณะนี้ โดยรวมแล้วผู้ขับแท็กซี่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้นด้วย
เป็นที่น่ายินดีที่ ปตท. และสถาบันการเงิน คือ ธนาคารออมสิน และ เอสเอ็มอีแบงก์ จะร่วมกันรับภาระในเรื่องการลงทุนและการติดตั้งอุปกรณ์ NGV ให้กับผู้ประกอบการแท็กซี่ก่อนแล้วผ่อนชำระทีหลัง โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ ปตท. รับภาระในเรื่องของดอกเบี้ยแทนแท็กซี่ ผู้ประกอบการแท็กซี่ที่สนใจติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวี สมัครได้ทันทีที่ ปตท.
"การส่งเสริมให้ผู้ขับรถแท็กซี่ใช้ก๊าซ NGV เป็นแนวทางที่รัฐต้องการจะช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่จากภาวะน้ำมันแพง ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาในการผ่อนชำระไม่นานหากรถวิ่ง 2 กะ ประมาณ 1 ปีกว่า ก็สามารถเป็นเจ้าของอุปกรณ์ติดตั้ง NGV ได้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวและว่า กระทรวงพลังงานจะผลักดันนโยบายการส่งเสริมการใช้ NGV อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดกลไกให้มีความต้องการใช้ NGV เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันได้ให้ ปตท. ส่งเสริมในเรื่องของการขยายตลาดการใช้และสร้างสถานีจำหน่ายก๊าซฯ ให้ครอบคลุม เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท.ได้ร่วมมือกับธนาคารออมสิน และ เอสเอ็มอีแบงก์ สำหรับโครงการแท็กซี่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี โดยการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี มูลค่า 50,000-63,800 บาท ตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนลดการใช้น้ำมันซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่พึ่งพาการนำเข้าสูง
สำหรับรายละเอียดของการติดตั้งอุปกรณ์ NGV มี 2 โครงการ ดังนี้
1. โครงการแท็กซี่อาสาสมัครใช้ก๊าซ NGV จำนวน 3,000 คัน
ปตท. ให้เงินช่วยเหลือค่าอุปกรณ์และการติดตั้งแก่แท็กซี่คันละ 15,000 บาท สำหรับเงินส่วนที่เหลือ ธนาคารออมสินเป็นผู้ให้สินเชื่อ โดยผู้ขับรถแท็กซี่สามารถชำระเป็นเงินสดหรือผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนโดยตรงกับธนาคาร
2. โครงการบัตรเติมก๊าซ NGV รับสมัครแท็กซี่ไม่จำกัดจำนวน
ปตท.อำนวยความสะดวกแก่แท็กซี่ในการขอสินเชื่อจากธนาคารออมสินและเอสเอ็มอีแบงก์ โดย ปตท.จัดทำระบบบัตรเติมก๊าซให้แท็กซี่ผ่อนชำระสินเชื่อคืนธนาคาร โดยจ่ายเพิ่มค่าอุปกรณ์ NGV จากการเติมก๊าซฯ ทุกครั้งกิโลกรัมละ 3 บาท จนกว่าจะครบสินเชื่อ (ไม่เกิน 24 เดือน) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-16 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะทางการวิ่งต่อวัน
ปัจจุบัน ปตท. ได้วางระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการจัดเก็บเงิน ซึ่งรถทุกคันที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีต้องใช้บัตรในการเติมก๊าซทุกครั้ง ทั้งนี้บัตรเติมก๊าซฯ จะมี 2 ชนิด คือ
บัตรทอง เป็นบัตรที่ใช้เติมก๊าซ NGV ในราคาปกติ
บัตรเงิน เป็นบัตรที่ใช้เติมก๊าซ NGV โดยเรียกเก็บค่าผ่อนอุปกรณ์ NGV และการติดตั้งเพิ่มเติมจากการเติมก๊าซ NGV กิโลกรัมละ 3 บาท
นายประเสริฐฯ กล่าวว่า ปตท. ธนาคารออมสิน และ เอสเอ็มอีแบงก์ มั่นใจว่า จากโครงการดังกล่าว จะทำให้แท็กซี่ได้รับความสะดวกในการติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นและระยะเวลาในการผ่อนชำระไม่นาน ยกตัวอย่างเช่น รถแท็กซี่หากวิ่ง 1 กะ ระยะทางประมาณ 200-300 กม. จะเสียค่าก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 170-250 บาท ทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงลงได้กะละ 200-300 บาท หากใช้แทนก๊าซหุงต้ม จะประหยัดได้ 60-100 บาท
ซึ่งรถแท็กซี่ทั่วไปจะวิ่งวันละ 2 กะ ก็จะทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงลงได้ถึงวันละ 400-600 บาท เมื่อเทียบกับการใช้เบนซิน 91 และ 120-200 บาท/วัน เมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซหุงต้ม (ราคาเชื้อเพลิง ณ วันที่ 5 ก.ค.2547)
ภายหลังจากที่ปตท.ได้เปิดให้แท็กซี่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2547 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการแท็กซี่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 1,000 ราย จึงขอเชิญชวนให้รถแท็กซี่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าว่าจะมีรถแท็กซี่ร่วมโครงการฯ กว่าหมื่นคัน สนใจสอบถามข้อมูได้ที่ โครงการเอ็นจีวี ปตท. โทรศัพท์ 0-2537-3777 และ 0-2537-3888
ปัจจุบัน ปตท.มีสถานีบริการเอ็นจีวีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 23 สถานี เป็นสถานีที่อยู่ต่างจังหวัด 2 แห่ง คือ ที่ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง และ จะเพิ่มขึ้นเป็น 50 สถานี ในปลายปี 2547 โดยมีแผนขยายปีละ 20 สถานี และตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 120 สถานี ในปี 2551
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท.
โทรศัพท์ 0-2537-3217 โทรสาร 0-2537-3211--จบ--
--อินโฟเควสท์ (กภ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ