กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ชูแบรนด์ “ดอยตุง” เป็นมากกว่าธุรกิจเพื่อสังคม ชวนกลุ่ม คอร์ปอเรท สร้างกลยุทธ์การลงทุนเพื่อสังคมระยะยาว โดยสนับสนุนชุดของขวัญสำหรับลูกค้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมจากฝีมือของชาวบ้านบนดอยตุง เพื่อนำรายได้ 3% จากการจัดจำหน่ายชุดของขวัญ ไปจัดตั้งกองทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของครู และมอบโอกาสให้กับเด็กนักเรียนบนดอยตุงที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป
คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการบริหาร โครงการพัฒนาดอยตุงฯ เปิดเผยแนวโน้มทิศทางพฤติกรรมผู้บริโภคประเภทองค์กรว่า ได้ยกระดับการบริโภคที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าในขณะนี้มีองค์กรหลายองค์กรที่เริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์จากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เป็นการลงทุนเพื่อสังคม (Strategic Community Investment) ที่ให้ผลเชิงลึก เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ตนอาศัยทำธุรกิจอยู่ให้แข็งแรงขึ้นอย่างยั่งยืน
“ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคำว่า “ความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงธุรกิจ” (CSR) แต่ความเคลือบแคลงสงสัยยังคงเกิดขึ้นว่าเป็นแค่เพื่อการประชาสัมพันธ์ การจัดกิจกรรมขององค์กรในแต่ละครั้งอาจใช้งบประมาณสูงเมื่อเทียบกับผลที่คาดว่าสังคมจะได้รับ อีกทั้งในปัจจุบันสังคมมองหาผลลัพธ์ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางบวกในเชิงลึกมากกว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ คำถามที่ยากขึ้นคือ การทำให้สังคมดีขึ้นนั้นองค์กรต่างๆ ต้องมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลืออย่างไร กลยุทธ์การลงทุนเพื่อสังคม (Strategic Community Investment) ผ่านองค์กรเพื่อสังคม จึงถูกนำมาใช้ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในระยะยาวและในเชิงของความยั่งยืน” คุณหญิงพวงร้อยกล่าว
หนึ่งในรูปแบบตัวอย่างของการยกระดับการบริโภค ภายใต้กลยุทธ์การลงทุนเพื่อสังคม คือแนวคิดการเลือกซื้อของขวัญแก่กลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งในแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับชุดของขวัญสำหรับลูกค้า นับเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย โดยมีมูลค่าตลาดเฉพาะในกรุงเทพฯ มากกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งหากผันค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาเป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพ ก็จะก่อให้เกิดเป็นรายได้ที่สุจริตแก่ชุมชน นับเป็นการลงทุนเพื่อสังคมที่มีความหมายยิ่งขึ้น และยังสามารถให้การสนับสนุนการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของ “คน” ได้ในโอกาสเดียวกัน และในขณะเดียวกันชุดของขวัญดังกล่าวต้องได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ เนื่องจากเป็นสิ่งสะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กรผู้ให้
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ดอยตุงได้นำเสนอชุดของขวัญสำหรับลูกค้าองค์กร ซึ่งต่างตระหนักว่าเป็นการบริโภคที่สร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ทำให้มียอดขายในปีที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นถึง 29.5 ล้านบาท แม้ว่าจะเกิดวิกฤตอุทกภัย และในปีนี้คาดว่ายอดขายจะเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วถึง 45% หรือประมาณ 50 ล้านบาท ในปีนี้ดอยตุงจะได้มีการจัดแบ่งรายได้พิเศษ โดยจะนำรายได้ 3% จากการจัดจำหน่ายชุดของขวัญไปจัดตั้งกองทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและมอบโอกาสให้กับเด็กนักเรียนบนดอยตุงที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป
“ชุดของขวัญจากดอยตุง สร้างสรรค์ โดยผสมผสานทักษะและภูมิปัญญาชาวบ้านกับการบริหารจัดการทางธุรกิจที่ทันสมัยอย่างมืออาชีพ จัดหานักออกแบบเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ และนักการตลาดที่เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคมาทำงานกับชาวบ้าน โดยใช้เทคนิคการจัดการที่ไม่ซับซ้อน สร้างช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจเพื่อสังคมภายใต้แบรนด์ดอยตุง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ หัตถกรรม กาแฟและแมคคาเดเมีย เกษตรและท่องเที่ยว ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างงานในชุมชน และนำผลกำไรกลับไปใช้ในการพัฒนาทางด้านการสาธารณสุข การศึกษาและสิ่งแวดล้อม” คุณหญิงพวงร้อย กล่าว
โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ตระหนักว่าเศรษฐกิจและสังคมจะดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ก็ต่อเมื่อคนในชุมชนนั้นสามารถหาเลี้ยงตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และพึ่งพาตนเองได้มากที่สุด การพัฒนาจึงมุ่งเน้นที่ "คน" ด้วยการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมให้กับคนทุกเพศทุกวัยในท้องถิ่น และสร้างอนาคตด้านการศึกษาให้กับคนรุ่นต่อไป
หนึ่งในตัวอย่างของความสำเร็จจากกระบวนการการพัฒนาอย่างมีบูรณาการนี้ ได้แก่ นางอรวรรณ โสภณอำนวยกิจพนักงานโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีอาชีพรับจ้างรายได้เพียงวันละ 10 — 20 บาท หลังจากที่ได้เข้าร่วมงานกับทางโครงการฯ ครอบครัวมีรายได้ต่อวันเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า และลูก 3 ใน 4 คนของนางอรวรรณ ก็ได้รับทุนการศึกษาจากทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ขณะนี้ลูกคนโตเรียนจบแล้วและกำลังเข้าทำงานในโครงการ “ครูสายพันธุ์ใหม่” ที่โรงเรียน ห้วยไร่สามัคคี ส่วนคนที่สองกำลังศึกษาด้านเกษตรที่จังหวัดน่าน และคนที่สามศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 ด้านการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงราย
นางอรวรรณ กล่าวว่า ถ้าไม่มีโครงการฯลูกๆ ก็จะไม่มีการศึกษาอย่างทุกวันนี้ ลูกที่เรียนจบทั้งหมดก็อยากให้เข้ามาทำงานในโครงการฯ ต่อไป เพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่ยังรอคอยโอกาสอีก” และอีกกว่า 300 ครอบครัวบนดอยตุงที่มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 7 เท่า หรือประมาณกว่า 250,000 บาทต่อปี หลังจากที่ได้เข้ามาทำงานในโครงการฯ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน