กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--สช.
สช.เปิดเวทีถกรับมือประชาคมอาเซียน ห่วงบุคลากรด้านสาธารณสุขไม่พอรับผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้าน กระทบบริการคนไทย ขณะที่ธุรกิจให้บริการผ่านเทคโนโลยีข้ามชาติเริ่มฮิต ให้รายได้งามดูดทรัพยากรการแพทย์ สภาพัฒน์แนะเพิ่มค่าตอบแทนและงบประมาณป้องกันสมองไหล
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2555 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ "สานพลังคสช. ขับเคลื่อนนโยบาย เคลื่่อนไหวสังคม" โดยมีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เข้าร่วม พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ "ผลกระทบในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อระบบสุขภาพ" ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) สช. กล่าวว่า การเปิดเสรีตามกรอบ "ประชาคมอาเซียน” ในปี 2558 จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากจะมีผู้ใช้บริการจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก รวมถึงการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติ ที่จะมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจการแพทย์ในอนาคต
ทั้งนี้ ธุรกิจบริการทางสุขภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนมี 4 ด้าน ได้แก่ 1. การบริการทางไกล เช่น การให้คำปรึกษาผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ (Tele-consultant) , การรับส่งภาพเอ็กซเรย์ทางไกล (Tele-radiogist) , การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดคนไข้ (Robotic Surgery or Practice) 2. การรับบริการข้ามพรมแดน เช่น การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางให้บริการสุขภาพ (Medical Hub) แก่นักท่องเที่ยว หรือการผ่าตัดแปลงเพศ 3. การข้ามชาติไปลงทุนบริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล , บริการทางสุขภาพ และอุตสาหกรรมยา 4. การเคลื่อนย้ายแรงงานด้านสุขภาพ เช่น แพทย์เฉพาะด้าน พยาบาล นักเทคนิคฯ เป็นต้น
นพ.วิพุธ กล่าวว่า ประเทศไทยมีโอกาสสูงในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคแข่งกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ เพราะปัจจุบันผู้มีฐานะดีในประเทศเล็กๆอย่าง ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม ก็เข้ามารักษาตัวในไทยจำนวนมาก ไม่นับรวมชาวยุโรปและตะวันออกกลางที่ชื่นชอบอยู่แล้ว ส่วนชาวอินโดนีเซียนิยมไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์ ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลไทยที่มีความแข็งแกร่ง ก็จะเริ่มหาลู่ทางขยายการลงทุนไปในภูมิภาค เช่น ในพม่าหรือเวียดนามที่บริการสาธารณสุขยังไม่ดีพอแต่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง
“การเกิดประชาคมอาเซียน จะทำให้คนฐานะดีจากหลายประเทศในอาเซียน 4-5% เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลในบ้านเรา ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ใช้บริการน้อยมาก แต่เรากลับต้องเสียบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้บริการคนมีฐานะกลุ่มนี้จำนวนมาก ทำให้บุคลากรด้านนี้เริ่มขาดแคลนแน่นอน และส่งผลกระทบให้คนไทยไม่ได้รับบริการที่ดีพอ"
นพ.วิพุธกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขควรใช้โอกาสนี้ในการวางแผนด้านอัตรากำลังคนและเทคโนโลยี เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่จะเกิดขึ้นยาวอีก 10-20 ปีข้างหน้า ไม่ใช่คิดแค่เรื่องการเข้ามาแข่งขันของอาเซียนเพียงอย่างเดียว เพราะจะสร้างข้อจำกัดที่สูง แต่ควรมองว่าประชาคมอาเซียนเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเอง เพราะรูปแบบทางการแพทย์ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เช่น โรงพยาบาลในสหรัฐขณะนี้ มีการส่งฟิล์มเอ็กซเรย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แพทย์ในประเทศอินเดียช่วยวินิจฉัยกว่า 60%
ด้านดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องระวังก็คือการแพร่ระบาดมากขึ้นของโรคติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่แฝงมากับการพัฒนา และการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และความเสี่ยงต่อสุขภาพที่ประเทศไทยต้องเปิดรับอาหารและผลิตภัณฑ์ เช่น บุหรี่ สุรามากขึ้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่อย่างบูรณาการในภูมิภาคนี้
หลังจากเกิดประชาคมอาเซียนจะมีการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาอีกมาก เพราะจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ในส่วนของไทยนั้นกลไกการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และ HIA จะต้องมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงภาคประชาชนจะต้องมีความเข้มแข็งและอาจร่วมมือกับเป็นเครือข่ายในระดับภูมิภาค
ด้านดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) มองว่า การเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนอาจเกิดความเสี่ยงใหม่ๆในแง่สุขภาพขึ้น เช่นการเปิดเสรีด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดน จะทำให้รถบรรทุกที่ขนสารเคมีจากประเทศเพื่อนบ้านนำสารเคมีเหล่านี้มาทิ้งในประเทศไทย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐเคยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "มิดไนท์ รัน" ที่รถบรรทุกสารเคมีไปทิ้งกลางทาง กว่ารัฐบาลจะรู้ว่าในขยะนั้นมีอะไรก็ต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้อาเซียนได้รับความสนใจจากประเทศตะวันตกรวมถึงยักษ์ใหญ่อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะเห็นได้ว่าอาเซียนมีคู่เจรจาทั้งอาเซียนบวกสาม และอาเซียน-สหรัฐ หลังจากนี้ก็ยังมีหลายประเทศ ที่ขอเข้าร่วมเจรจาอีก ล่าสุดอาเซียนจะขยายสมาชิกเพิ่มอีก 2 ประเทศคือติมอร์ตะวันออกและปาปัวนิวกินี ยิ่งทำให้ศักยภาพของอาเซียนมีการเติบโต ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเงินทุนต่างชาติที่จะไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น