ศศินทร์ดึงผู้นำจากนานาชาติร่วมถกปัญหาและร่วมพัฒนาเอเชีย Sasin Bangkok Forum : Asia In Transformation

ข่าวทั่วไป Friday July 6, 2012 14:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ศศินทร์ จากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก ได้ส่งผลต่อประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เห็นได้จากการค้าและการลงทุนได้ไหลจากตะวันตกสู่โลกตะวันออก โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากรมากอย่างเช่นจีนและอินเดีย รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์และญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมและการส่งออก ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในครัวเรือนเท่านั้น แต่ตามมาด้วยผลกระทบนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องการใช้พลังงาน รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่าง เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จึงได้จัดงาน “Sasin Bangkok Forum” ซึ่งเป็นเวทีที่รวมเอาผู้นำทางด้านความคิดและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและอภิปรายเพื่อถกถึงปัญหาและความเปลี่ยนแปลงในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของเอเชีย” (Asia In Transformation) ขึ้นในวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวมีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของประเทศแถบอินโดจีน ผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินและการธนาคารทั้งจากทั่วโลกและเอเชีย เรื่องพลังงาน สีเขียวในเอเชีย รวมทั้งเรื่องกลยุทธ์และการสื่อสารการตลาดในเอเชียสำหรับอนาคต ฯลฯ ในเรื่องเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ในฐานะประธานบอร์ดที่ปรึกษา Sasin Bangkok Forum และประธานคณะกรรมการจัดงาน Sasin Bangkok Forum เปิดเผยว่า ศศินทร์มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีทั้งผู้นำทางธุรกิจ นักวิชาการ และผู้นำด้านความคิดจากประเทศต่าง ๆ ทั้งจากภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคและภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายในการช่วยสังคม ชุมชน และกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับต่าง ๆ สำหรับสาระสำคัญของงาน Sasin Bangkok Forum ครั้งนี้คือการถกกันถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย (Asia In Transformation) สืบเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมที่ประเทศในแถบตะวันตกเป็นผู้นำทางด้านต่างๆ แต่ความผันผวนของเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ด้านการเมือง รวมทั้งสถานการณ์อื่นๆ ส่งผลให้อำนาจทางเศรษฐกิจได้ถูกย้ายมาสู่โลกตะวันออก ทำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความแข็งแกร่งมากขึ้น นอกจากนี้แล้วการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ ยังมีส่วนทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการบริโภค การลงทุน วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้อาเซียนมีการเจริญเติบโตด้านการค้า และมีแนวโน้มว่าจะมีอิทธิพลไปทั่วโลก นอกจากนี้แล้วการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชีย และความไม่แน่นอนในด้านการเมืองและวิกฤตการณ์ระดับโลก ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีความพร้อมกลายเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ เห็นได้จากหลายประเทศได้ปฏิวัติจากสังคมการเกษตรสู่อุตสาหกรรม และถูกกระแสเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่มีจำนวนผู้ที่อยู่ในสังคมออนไลน์เป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ฟิลิปปินส์ อินเดีย และไทยก็ถูกจัดอยู่ในลำดับต้น ๆ ของการใช้สื่อออนไลน์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือปัญหาสังคม ทำให้สิงคโปร์และเกาหลีใต้ต้องออกมาตรการควบคุมเรื่องเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งประเทศจีนก็มีการจัดการกับอินเตอร์เน็ตอย่างจริงจัง แต่ อิน??โดนีเซียและไทยยังไม่ได้มีระบบจัดการกับสื่อดังกล่าวอย่างเอาจริงเอาจัง สรุปได้ว่าประเทศต่าง ๆ ในเอเชียส่วนใหญ่มีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และที่น่าสนใจก็คือการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม ในขณะที่ประเทศลาว เกาหลีเหนือ และพม่ายังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงอีกหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม และปัญหาทั้งหมดนี้จะได้รับการหารือในงาน Sasin Bangkok Forum ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวจะเป็นการรวมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติร่วมถกถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร. Julapa Jagtiani ที่ปรึกษาพิเศษของ The Federal Reserve Bank of Philadelphia ดร. Eric S. Rosengren ประธานและกรรรมการผู้จัดการ The Federal Reserve Bank of Boston, ดร. Charles L. Evans ประธานและกรรมการผู้จัดการ The Federal Reserve Bank of Chicago, H.E. Tharman Shanmugaratnam รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศสิงคโปร์, H.E. U HtayAung รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการโรงแรมและการท่องเที่ยวประเทศพม่า, มร. Shigeo Ohyagi ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท Teijin จำกัด, ศาสตราจารย์ ดร. Lian Ping หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ Bank of Communications เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน และคณะศาสตราจารย์จาก Wharton School University of Pennsylvania และ University of Tokyo อนึ่ง การจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) และสำนักผู้แทนการค้าไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ