กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ปตท.
สะท้อนการยอมรับระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต โดย ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้แก่ PTTGC BCP PTTEP และ IRPC ให้ความร่วมมือข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Global Compact (UNGC) ซึ่งปัจจุบันมีภาคีกว่า 8,000 ราย จาก 135 ประเทศ
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า UNGC เป็นหน่วยงานหนึ่งของสหประชาชาติที่มุ่งส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต เริ่มดำเนินงานในปี 2543 เพื่อเชิญชวนให้บรรดาบรรษัทพลเมืองร่วมทำข้อตกลงสำหรับนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจให้ได้ชื่อว่าเป็นบรรษัทพลเมืองที่มีความรับผิดชอบในสังคมโลกโดยสมัครใจ
UNGC มีภาคีจากประเทศไทยรวม 32 ราย มีภาระหน้าที่ในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงหลักสากล 10 ประการ ประกอบด้วย การสนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากลตามขอบเขตอำนาจที่เอื้ออำนวย การหมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานและการรับรองสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง ขจัดการใช้แรงงานเกณฑ์และแรงงานที่ใช้การบังคับในทุกรูปแบบ ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง ขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างงานและการประกอบอาชีพ สนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาสาจัดทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการยกระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ดำเนินงานในทางต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการกรรโชก และการให้สินบนในทุกรูปแบบ
ดร.ไพรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินธุรกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท.ได้ปฏิบัติตามหลักสากลตามข้อกำหนดของ UNGC อยู่แล้ว ส่งผลให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้รับการยอมรับระดับโลกในด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต
ทั้งนี้ หากทั้งหมด 32 ภาคีจากไทยยึดปฏิบัติตามหลักสากลภายใต้ข้อกำหนดของ UNGC เป็นอย่างดี ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของบริษัทไทยก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ