ในหลวง พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินภาพถ่ายชนะเลิศหนึ่งเดียว โครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2554-2555 ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่ช่างภาพที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณนี้

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2012 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--ไทยเบฟเวอเรจ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรัสกับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ภาพถ่ายนี้จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ เพราะการฟาดข้าวเป็นประเพณีที่ไม่ค่อยจะได้เห็นอีกแล้ว สมัยนี้ชาวนาใช้เครื่องจักรกันเยอะ” เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินภาพถ่ายชนะเลิศถ้วยพระราชทาน ในการประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศ ชิงถ้วยพระราชทานครั้งที่ 25 ภายใต้โครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน แนวคิด “เพื่อประโยชน์สุข” ยังความปลาบปลื้มปิติแก่คณะผู้จัดโครงการฯ และช่างภาพชนะเลิศอย่างหาที่เปรียบมิได้ ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2554-2555 และพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายพลภัทร สุวรรณศร ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)และนายวิเชษฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน และพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตร โครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2554-2555 ภายหลังจากที่ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศ ชิงถ้วยพระราชทานครั้งที่ 25 ในโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ภายใต้แนวคิด “เพื่อประโยชน์สุข” เปิดโอกาสให้ผู้สนใจการถ่ายภาพทั่วประเทศ ได้ส่งรูปภาพร่วมประกวด เพื่อชิง 6 ถ้วยพระราชทาน เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบพระนักษัตร จนมีผู้สนใจส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดในโครงการเป็นจำนวนถึง 1,169 ภาพ จากช่างภาพ 307 คน สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(ส.ภ.ท.) ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินขึ้น เพื่อเผยโฉมภาพถ่ายรางวัลพระราชทาน ที่ได้รับ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อทรงตัดสินภาพชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตลอดจนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ชมภาพถ่ายผลงานจากศิลปินไทย ซึ่งได้รับการคัดเลือกภาพถ่ายโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะและการถ่ายภาพทั้งสิ้น 20 ท่าน โดยโครงการประกวดภาพถ่ายในปีนี้ ถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของนักถ่ายภาพ เปิดโอกาสให้ผู้รักการถ่ายภาพส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม - 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีภาพถ่ายเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะได้รับพระราชวินิจฉัยคัดเลือกภาพชนะชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระบรมวงศานุวงศ์มากที่สุดเป็นประวัติกาล โดยที่สุด สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับหนังสือแจ้ง เรื่อง “ทรงเลือกภาพรางวัลชนะเลิศ” จากสำนักราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แจ้งถึง ภาพถ่ายชนะเลิศที่ทรงเลือก ดังนี้ - รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท ภาพ “เพียงพอก็พอเพียง” โดย นายคันธ์ชิต สิทธิผล - รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท ภาพ “พลังแห่งสงฆ์” โดยนายมงคล พิทักษ์หมู่ - รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท ภาพ “กลมกลืน” โดยนายวรดิเรก มรรคทรัพย์ - รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท ภาพ “ย่างปลา” โดยนางปูรณ์ภัสสร กิจจินดารักษ์ - รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท อัครราชกุมารี ภาพ “รู้รักสามัคคี” โดยนายพลัฏฐ์ ไชยพิทักษ์กูล - รางวัลถ้วยพระราชทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท ภาพ “เก็บผักจากโครงการหลวง” โดยนายสัญชัย บัวทรง ในโอกาสนี้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง การดำเนินโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งการดำเนิน โครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องจากความสำเร็จของโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2550 และต่อเนื่องมาถึงปี 2551-2553 ที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นประจำในทุกๆ ปี ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้รักการถ่ายภาพ ทั้งมืออาชีพ และสมัครเล่นส่งภาพเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และในปี 2554-2555 นี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่เปรียบมิได้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกภาพชนะเลิศด้วยพระองค์เอง ยังความปลื้มปิติต่อสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้ร่วมสนับสนุนและผู้ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ คณะผู้จัดงานยังมีเจตนารมณ์ร่วมกันสานต่อโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินให้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์อัครศิลปินผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ “สำหรับในปีนี้ ทางผู้ดำเนินโครงการฯ ได้กำหนดหัวข้อการประกวดภาพถ่ายเพียงหัวข้อเดียว ภายใต้แนวคิด “เพื่อประโยชน์สุข” อันมีที่มาจากพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่ได้พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ซึ่งการกำหนดโจทย์ในปีนี้มีเพียงหัวข้อเดียวเท่านั้น แตกต่างจากทุกปีที่จะมีหัวข้อการประกวดย่อยอีก 6 หัวข้อ ทั้งนี้ยังคงเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปสามารถส่งภาพเข้าประกวดได้ถ่ายทอดเรื่องราวลงบนภาพถ่าย ด้วยมุมมองการตีความหมายที่หลากหลายรวมถึงรูปแบบของการถ่ายทอดอารมณ์และจินตนาการได้อย่างอิสระและลึกซึ้งมากขึ้น ในปีนี้ โครงการฯ ได้รับความสนใจจากช่างภาพทั่วประเทศ ทั้งในระดับมืออาชีพและบุคคลทั่วไป ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดในโครงการเป็นจำนวนถึง 1,169 ภาพ จากช่างภาพ 307 คน” นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กล่าว ด้าน นายวิเชษฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยเบฟ ในฐานะพสกนิกรไทยใต้ร่มพระบารมี เรายึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ซึ่งการจัดการประกวดโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ครั้งนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้นักถ่ายภาพได้แสดงพรสวรรค์แล้ว ยังถือเป็นการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งนานาประเทศเทิดทูนพระองค์เป็นแบบอย่างอันประเสริฐแก่นักพัฒนาทั้งหลาย เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมงานกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปะและการถ่ายภาพระดับโลกและระดับประเทศมากมายอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 นี้ ตลอดจนความปลาบปลื้มที่ได้รับ พระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการมีพระราชวินิจฉัยตัดสินภาพถ่ายชนะเลิศ ด้วยพระองค์เอง นับเป็นภาพถ่ายที่ควรค่าแก่การบันทึกแห่งยุคสมัยสืบไป” ในปีนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิในวงการถ่ายภาพไทยร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวด อาทิ นายยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปี 2550 ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปี 2552 นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมชัย กตัญญุตานันท์ (ชัย ราชวัตร) นักเขียนการ์ตูน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และนายนิติกร กรัยวิเชียร อุปนายกสมาคมฯ นิทรรศการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2554-2555 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในวันที่ 6-15 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00-20.30 น. ณ แฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดนิทรรศการ และรายละเอียดโครงการในปีต่อไป ได้ที่เว็บไซต์ www.rpst.mobi และ www.thaibev.com บทสัมภาษณ์ศิลปินรางวัล นายคันธ์ชิต สิทธิผล ผู้ชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เจ้าของภาพชื่อ “เพียงพอก็พอเพียง” เปิดเผยว่า ตนต้องการสะท้อนแนวคิดเรื่องพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในเรื่อง การยึดหลังเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตแบบพอเพียง เท่านี้ชีวิตก็มีประโยชน์และมีความสุขได้ ซึ่งตนได้รับแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพจาก “แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ประชาชนชาวไทยโดยตนจัดองค์ประกอบแบบจุดตัดเก้าช่องคือ การกำหนดจุดที่เกิดการตัดกัน เป็นจุดที่วางวัตถุหลัก และเลือกใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อบันทึกภาพ “รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของวงศ์ตระกูล ตนรู้สึกดีใจมาก ไม่คาดฝันเลย ว่าจะได้รับพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินจากในหลวงให้ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้ ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งสำหรับตนและครอบครัว สุดท้ายนี้ตนอยากจะฝากถึงผู้จัดโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน อยากจะให้จัดโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไปทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้นักถ่ายภาพได้สร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายและสร้างแรงบันดาลใจให้นักถ่ายภาพต่อไป ถือเป็นรางวัลซึ่งเป็นรางวัลพระราชทานจากพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันมีคุณค่าทางจิตใจอย่างหาที่เปรียบมิได้” นายคันธ์ชิต สิทธิผล กล่าว นายมงคล พิทักษ์หมู่ ผู้ชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เจ้าของภาพชื่อ “พลังแห่งสงฆ์” กล่าวว่า ภาพนี้สะท้อนแนวความคิดในเรื่องศาสนาและความสามัคคีของปวงชนชาวไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ปวงชนชาวไทยเห็นตลอด 60 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยโดยแท้จริง ภาพที่เห็นจะสะท้อนให้เห็นพลังของความสามัคคีขององค์พระสงฆ์ที่รวมตัวโดยมาจากทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อมารอรับบาตรจากประชาชนที่จะนำสิ่งของข้าวปลาอาหารที่นำมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับประสบอุทกภัยในปี 2554 และถูกนำไปแจกจ่ายในพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบภัยในประเทศ พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านการทำนุบำรุงศาสนาและสร้างความสามัคคี ซึ่งเป็นกรณียกิจอันสำคัญยิ่งที่ปวงชนชาวไทยได้รับทราบและดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาทอันเป็นประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยโดยแท้จริง “ผมถ่ายภาพจากมุมสูงเพื่อเก็บรายละเอียดและสร้างภาพให้ดูมีพลังโดยให้เห็นพระสงฆ์จำนวนมากที่มารวมตัวกันจึงเลือกใช้เลนส์มุมกว้าง เพื่อเก็บภาพในมุมกว้าง ตนรู้สึกภูมิใจกับความเพียรพยายามในด้านความคิดที่ตนต้องการถ่ายทอดให้เห็นถึงสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ทำเพื่อประชาชนชาวไทยและชาวไทยได้ยึดเป็นแบบอย่างเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์สุข และยังปลาบปลื้มกับผลงานที่ส่งเข้าประกวดที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ถือเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งต่อตนเองและวงศ์ตระกูล ถือว่าโครงการยังช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมในวงการถ่ายภาพที่จะสร้างแรงบันดาลใจที่จะถ่ายทอดความรู้สึกลงบนภาพถ่ายและยังเป็นการช่วยเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ประชาชนชาวไทยได้รับทราบโดยทั่วกัน โดยผ่านทางภาพถ่ายอีกทางหนึ่ง” นายมงคล พิทักษ์หมู่ กล่าวต่อ นายวรดิเรก มรรคทรัพย์ รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้าของภาพ “กลมกลืน” เผยว่า ช่วงที่ถ่ายรูปคือ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2554 ได้เกิดมรสุมครั้งใหญ่ที่ภาคใต้ และในกรุงเทพฯ ยังหนาวอยู่ แสดงว่าภาคใต้เกิดพายุใหญ่ ช่วงนั้นออกทริปไปถ่ายรูปช่วงที่ไปถึงพัทลุง อยู่ที่ทะเลน้อยตลอดเนื่องจากฝนตกหนังตลอดทั้งวัน และอีกฝั่งคือ บึงระโนด ซึ่งเป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบๆ บึง และเลี้ยงควายไว้หลายร้อยหรืออาจจะพันตัว ลักษณะเด่นของบึงคือ มีความตื้นมาก ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงควายของตัวเอง สำหรับนิสัยของควายแล้วจะชอบใช้หน้ามุดน้ำตื้นเพื่อลงไปเล็มต้นหญ้าที่อยู่ในน้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วผมตั้งใจจะไปถ่ายภาพแบบนี้ แต่เมื่อไปถึงแล้วเกิดมรสุมเข้าอย่างหนัก และกำลังจะเกิดน้ำท่วมที่ทะเลน้อยในตอนนั้น ชาวบ้านจึงต้องมาช่วยกันต้อนฝูงควายให้อยู่ในพื้นที่ลุ่ม เพื่อที่จะไม่ให้จมน้ำ ทำให้เกิดเป็นแรวบันดาลใจและแนวความคิดว่า แม้จะเกิดภัยพิบัติหนักแค่ไหนก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ต้องรับผิดชอบในชีวิตควายที่พวกเค้าดูแลทุกตัว ชาวบ้านก็ต้องทำหน้าที่ของพวกเค้าให้ดีที่สุด เมื่อเค้าเลือกแล้วว่าจะทำในหน้าที่นี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำเพื่อประโยชน์สุข ถึงแม้ว่าจะเป็นการทำเพื่อประโยชน์สุขของครอบครัวพวกเขาก็จริง แต่แค่พวกเขาเริ่มตั้งแต่ตัวเองและครอบครัว ก็จะเริ่มทำประโยชน์เพื่อชุมชน และเพื่อประโยชน์สุขของประเทศในที่สุด แต่สุดท้ายทราบในภายหลังว่าฝูงควายล้มตายไปหลายร้อยตัว เพราะไม่สามารถหาที่หลบพายุฝนในครั้งนี้ได้ ก็รู้สึกเสียใจเหมือนกัน” “ผมใช้เทคนิคการบันทึกภาพแบบ Normal เพราะผมต้องการที่จะจับภาพอารมณ์ของภาพบรรยากาศที่ชาวบ้านที่กำลังจะต้อนฝูงควายท่ามกลางพายุฝนที่รุนแรง เทคนิคคือ อารมณ์ ความรู้สึกของบรรยากาศเป็นหลัก สำหรับความรู้สึกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ตนยังรู้สึกประหลาดใจตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 ภาพ และภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ถือเป็นรางวัลที่ภูมิใจมากกว่ารางวัลอื่นๆ ที่เคยได้มา และผมรู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้” นายวรดิเรก มรรคทรัพย์ นางปูรณ์ภัสสร กิจจินดารักษ์ ผู้ชนะเลิศรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าของภาพ “ย่างปลา” กล่าวว่า ผลงานภาพถ่ายชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นความสุขเล็กๆ ที่ทำให้กับคนในสังคมไทยให้รู้จักคำว่า “พอเพียง” ตนต้องการถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ผ่านภาพ เพราะบางครั้งอาจจะแสดงออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ตนรู้สึกดีใจและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ และขอขอบคุณคณะกรรมการที่ได้มองเห็นและพิจารณาว่า แม้แต่การย่างปลาก็ถือว่าเป็นประโยชน์สุขของส่วนรวม ตามจุดประสงค์ที่ตั้งใจไว้ ส่วนตัวแล้วอยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป เพื่อเป็นการพัฒนาวงการถ่ายภาพให้กับเยาวชนรุ่นหลังที่สนใจและรักในการถ่ายภาพต่อไป นายพลัฏฐ์ ไชยพิทักษ์กูล ผู้ชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าของภาพ “รู้รักสามัคคี” กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้จะสะท้อนแนวความคิดเรื่องสถาบันครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม ถ้าหากทุกคนในครอบครัวมีความรัก ความสามัคคี มีแบบอย่างดีๆ ให้แก่คนในครอบครัว สถาบันครอบครัวก็จะเป็นกำลังสำคัญให้แก่สังคม ในการพัฒนาประเทศชาติ เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน ส่วนตัวรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมการได้มองเห็นถึงแนวความคิดที่มีอยู่ในภาพถ่าย ที่ถ่ายทอดถึงความรัก ความสามัคคีของครอบครัวที่นำไปสู่ความรักสามัคคีของคนในประเทศชาติ “สำหรับโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินนี้ ถือเป็นโครงการที่ทำให้คนรักการถ่ายภาพได้ฝึกฝีมือ ฝึกความคิด ฝึกความอดทนต่ออุปสรรคที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้ ความสามารถ ความคิด สู่ภาพถ่ายของตน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่วงการถ่ายภาพและประเทศชาติต่อไป” นายพลัฏฐ์ ไชยพิทักษ์กูล เปิดเผย นายสัญชัย บัวทรง ผู้ชนะเลิศถ้วยพระราชทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เจ้าของภาพ “เก็บผักจากโครงการหลวง” เปิดเผยว่า ตนถ่ายภาพนี้ที่โครงการหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตนอยากจะสะท้อนแนวคิดที่มีต่อหัวข้อเพื่อประโยชน์สุข ให้เห็นถึง ความสุขของประชาชนบนผืนแผ่นดินไทยภาพใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ท่านได้ทรงงานหนักตลอดมาเพื่อประชาชนของท่าน สำหรับแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพนี้ ตนรักในหลวงทุกๆ ครั้งที่ผมถ่ายภาพ ผมจะนึกถึงพระองค์ท่านและอยากถ่ายภาพโครงการต่างๆ ที่พระองค์ท่านสร้างเพื่อให้ประชาชนของท่านมีความสุข และตนต้องการเผยแพร่ให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้ในพระปรีชาสามารถของในหลวงอีกด้วย “สำหรับเทคนิคในการถ่ายภาพ เก็บผักจากโครงการหลวงนี้ ผมเลือกใช้เลนส์เทเลเจาะถ่ายเฉพาะแปลงดอกไม้ที่มากมายตามเชิงดอยอินทนนท์ให้เห็นเป็นภาพแนวแพทเทินทั่วทั้งภาพและสร้างจุดเด่นโดยมีหญิงชาวเขากำลังเก็บผักซึ่งเป็นพืชที่ปลูกแซมตามขอบของแปลงดอกไม้ รางวัลอันทรงเกียรตินี้ยังความภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้มาสู่ตนและครอบครัว ถือได้ว่าโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ช่างภาพได้สร้างผลงานกับด้านการถ่ายภาพที่สวยงามเผยแพรให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับรู้ถึงพระปรีชาสามารถของในหลวงและความสุขบนผืนแผ่นดินไทย คิดว่าเป็นเวทีการประกวดภาพถ่ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว” นายสัญชัย บัวทรง กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ