สนพ. เผยช่วงที่ผ่านมามี SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนขายไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มอีก 6 ราย

ข่าวทั่วไป Friday July 9, 2004 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สนพ.
สนพ. เผยช่วงที่ผ่านมามี SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนขายไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มอีก 6 ราย มีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขายเท่ากับ 18.20 เมกะวัตต์ ทำให้มี SPP ที่ขายไฟเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 66 ราย
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ว่า ในปี 2547 นี้มี SPP ที่ขายไฟเข้าระบบเพิ่มอีกจำนวน 6 โครงการ คิดเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายเท่ากับ 18.20 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะมี SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนขายไฟเข้าระบบรวมทั้งสิ้น 9 โครงการ
มีปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวมเท่ากับ 118.60 เมกะวัตต์ นอกจากนี้จะยังมี SPP ที่ได้รับการตอบรับการซื้อไฟฟ้าแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากำหนดการขายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 6 โครงการ มีปริมาณเสนอขายไฟฟ้าเท่ากับ 30.20 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 6 ราย ที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าที่ใช้กากอ้อย จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด 2.บริษัท น้ำตาลนิว กว้างสุ้นหลี จำกัด 3. บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด และ 4.บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด นอกจากนี้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบ กากอ้อยและไม้ยูคาลิปตัส จำนวน 1 โครงการ ของบริษัท สตึกไบโอแมส จำกัด และโรงไฟฟ้าที่ใช้แกลบ และไม้ยูคาลิปตัส 1 โครงการ ของบริษัท ไทยเพาเวอร์ซัพพลาย จำกัด
สำหรับการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก รัฐได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 12 ปี มี SPP ที่จ่ายไฟเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 66 ราย แบ่งเป็น SPP ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแน่นอน หรือประเภท Firm (5-25 ปี) จำนวน 32 ราย โดยส่วนใหญ่ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า และผู้ผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแน่นอน หรือประเภท Non-Firm (ต่ำกว่า 5 ปี) จำนวน 34 ราย โดยใช้กากอ้อยผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ รวมเป็นปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายเข้าระบบรวมทั้งสิ้น 2,157 เมกะวัตต์โดยในส่วนของผลผลิตการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้
ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้ามากขึ้น ไม่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับ และลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งขณะเดียวกันยังสามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงการผลิตเป็นน้ำมันทดแทน เช่น เอทานอล ไบโอดีเซล เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ทราบดีว่าประเทศต้องประสบกับปัญหาวิกฤตราคาน้ำมัน ดังนั้นการนำพลังงานจากพืชมาใช้จึงเป็นสิ่งที่มีค่า และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อทดแทนการใช้พลังงานและนำเข้าพลังงานประเภทฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ