มรภ.สงขลา วิจัยวิธีเรียนแบบใหม่ หอบผลงานโชว์เวทีนานาชาติ

ข่าวทั่วไป Tuesday July 10, 2012 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--มรภ.สงขลา นักวิจัย มรภ.สงขลา หอบผลวิจัยวิธีเรียนรูปแบบใหม่ ผสมผสานการเรียนรู้ในห้องเรียน ควบคู่อีเลินนิ่ง ร่วมเสนอผลงานเวทีประชุมวิชาการนานาชาติ ผศ.ดร.ศศลักษณ์ ทองขาว รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และอาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26-28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการนานาชาติ The Education, Learning, Styles, Individual differences Network (ELSIN 2012) ครั้งที่ 17 ณ เมืองคาดีฟ ประเทศสหราชอาณาจักร ในหัวข้อเรื่อง ลีลาการเรียนรู้ในสถานการณ์การเรียนรู้แบบผสมผสานบนระบบจัดการการเรียนรู้ (Learning Management System) : กรณีศึกษาเชิงตีความ (Learning Styles and Blended learning Situations on LMS: An Interpretive Case Study) ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการเรียนของผู้เรียนแบบใหม่ ที่เน้นถึงรูปแบบการเรียนรู้แบบผสม (Blended learning) ระหว่างการเรียนแบบในห้องเรียน และการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเลินนิ่ง (e-learning) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ที่ได้จากงานวิจัย และนำมาปรับใช้ในสถานการณ์จริงในมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจะได้ประโยชน์จากงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว งานวิจัยนี้ยังสามารถปรับใช้ได้กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่มีรูปแบบการเรียนคล้ายคลึงกันอีกด้วย รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มรภ.สงขลา กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้ จัดโดยองค์กร ELSIN ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1995 เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการทั้งสายวิชาการทางการศึกษา สายวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสายเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยรูปแบบการนำเสนองานวิจัยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การนำเสนอด้วยปากเปล่า (oral presentation) และการนำเสนอบทความทางวิชาการฉบับเต็ม (full paper) ซึ่งบทความทางวิชาการฉบับเต็มนั้น ผู้นำเสนอจะต้องส่งให้องค์กร ELSIN อ่านก่อนอย่างน้อย 1 เดือน อย่างไรก็ดี การนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และอเมริกา ให้ความสนใจส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมนำเสนอกว่า 100 เรื่อง “การนำเสนอผลงานในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นอกจากจะนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว ยังได้ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ให้นักวิชาการทั่วโลกให้รู้จัก ทั้งในเวทีวิชาการและการพบปะนอกรอบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนผลงานด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาไปสู่สากล” ผศ.ดร.ศศลักษณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ