กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (TK146A และ TK165A) ของ บริษัท
ฐิติกร จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ที่ได้รับการยอมรับในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถในการดำรงสถานะผู้นำตลาด การมีตลาดที่กระจายตัวทางภูมิศาสตร์ผ่านเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง ความสามารถในการทำกำไรที่โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังคงมีข้อจำกัดจากความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของธุรกิจโดยมีผลิตภัณฑ์หลักเพียงประเภทเดียวคือสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และการมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความอ่อนไหวต่อการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและผลประกอบการทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งต่อไปได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งในปัจจุบันเอาไว้เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ โดยที่ระดับฐานทุนที่แข็งแกร่งยังมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของบริษัทในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งรุนแรงในประเทศไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 แต่บริษัทฐิติกรยังคงสามารถขยายฐานสินเชื่อได้ โดยมีสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นเป็น 6,486 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 11.7% จาก 5,806 ล้านบาทในปี 2553 ทั้งนี้ เกือบ 30 ปีที่ผ่านมาบริษัทเป็นผู้นำตลาดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อพิจารณาจากจำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่ บริษัทให้บริการผ่านสาขาที่ครอบคลุม 45 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งมักเน้นเฉพาะลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล คณะผู้บริหารและพนักงานที่มีประสบการณ์ยาวนาน ตลอดจนเครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง และระบบการบริหารงานและการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนความพยายามของบริษัทในการที่จะดำรงสถานะผู้นำตลาดเอาไว้ให้ได้
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2551 บริษัทฐิติกรกลับมาให้ความสำคัญกับการขยายสินเชื่อรถยนต์ให้เพิ่มสูงขึ้นโดยผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นเต็ม 100% คือ บริษัท ชยภาค จำกัด ทั้งนี้ ในช่วงปี 2548-2551 บริษัทชยภาคได้ลดปริมาณสินเชื่อรถยนต์ลงเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยสินเชื่อรถยนต์คงค้างลดลง 60% จาก 1,497 ล้านบาทในปี 2548 เหลือ 596 ล้านบาทในปี 2551 หรือคิดเป็น 11% ของสินเชื่อคงค้างรวมของบริษัท สินเชื่อรถยนต์เริ่มขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยบริษัทเน้นการให้สินเชื่อรถยนต์ใหม่แทนรถยนต์มือสองที่เคยให้บริการมาในอดีต สินเชื่อรถยนต์คงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่ามาอยู่ที่ 1,137 ล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,522 ล้านบาทในปี 2553 ด้วยการแข่งขันที่รุนแรงและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงทำให้บริษัทดำรงธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ไว้เพียงเพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เอาไว้เท่านั้น โดยสินเชื่อรถยนต์ลดลงมาอยู่ที่ 1,471 ล้านบาทในปี 2554 และอยู่ที่ระดับ 1,470 ล้านบาทหรือ 18% ของสินเชื่อรวมของบริษัทฐิติกร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ผลประกอบการของบริษัทฐิติกรยังคงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง
บริษัทฐิติกรสามารถควบคุมต้นทุนในการดำเนินงานรวมทั้งลดการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ที่ยึดคืนมาได้ บริษัทสามารถจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ยึดคืนมาในราคาที่สูงขึ้นเนื่องจากบริษัทมีศูนย์ปรับสภาพรถเป็นของตนเองก่อนที่จะนำออกประมูล ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.8% ในปี 2554 จาก 56.7% ในปี 2552 และ 49.2% ในปี 2553 เป็นผลให้กำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นถึง 59.5% ในปี 2553 มาอยู่ที่ระดับ 532 ล้านบาท จาก 334 ล้านบาทในปี 2552 กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก 17.4% จากปี 2553 เป็น 625 ล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 5.3% ในปี 2552 เป็น 7.4% ในปี 2553 และ 7.6% ในปี 2554 ในไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทมีกำไรสุทธิ 136 ล้านบาท ด้วยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ 6.3% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) โดยสาเหตุของการลดลงของความสามารถในการทำกำไรในช่วงไตรมาสแรกนี้เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นการตั้งสำรองเพื่อชดเชยกับคุณภาพที่ถดถอยลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่ผ่านมา
ก่อนเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปีที่แล้ว บริษัทฐิติกรสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไปพร้อมกับการสร้างผลกำไรให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 3.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 จาก 9.7% ในปี 2549 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 83.0% ในปี 2549 มาอยู่ที่ระดับ 148.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 คุณภาพสินเชื่อของบริษัทได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยเช่นเดียวกับผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายอื่นๆ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.3% ณ สิ้นปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเป็น 110.9% บริษัทได้ดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเน้นไปที่การจัดเก็บหนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเป็น 4.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ส่วนอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มเป็น 132.1% การมีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์น่าจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมและปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อให้ดีขึ้นได้
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 บริษัทซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เซทเทเลม (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยเงินทุนจำนวน 200 ล้านบาท บริษัทเซทเทเลมได้หยุดดำเนินธุรกิจในปี 2552 หลังจากมีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี ณ สิ้นปี 2553 บริษัทเซทเทเลมมีเงินสดจำนวน 120 ล้านบาทจากสินทรัพย์รวมมูลค่า 132 ล้านบาท การซื้อบริษัทเซทเทเลมจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฐิติกรโดยหนึ่งในประโยชน์ดังกล่าวคือการปรับเพิ่มจำนวนฐานข้อมูลลูกค้าในส่วนของบัญชีลูกค้าต้องห้าม (Black List) จากฐานข้อมูลลูกค้าของบริษัทเซทเทเลมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อของบริษัท ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) (TK)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
TK146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A-
TK165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 คงเดิมที่ A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)