กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขและสังคมทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกประมาณการว่า ในแต่ละปีมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 1 ล้านคน คิดเฉลี่ยมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ในทุก 40 วินาที ส่งผลกระทบต่อจิตใจของครอบครัวและผู้คน รอบข้างของผู้ตายอีกประมาณ 10—20 ล้านคนในแต่ละปี รวมทั้งส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล สำหรับประเทศไทยปี 2542 เป็นปีที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด 8.59 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายมาอย่างต่อเนื่องในการ แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรณรงค์ การคัดกรอง การปรับปรุงให้เกิดการเข้าถึงบริการ ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายลดลงโดยลำดับ จนทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ตลอด 5 ปี คือ อยู่ระหว่าง 5.97-6.03 รายต่อแสนประชากร ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องจัดว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำ ทั้งนี้ เพศชายยังคงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าเพศหญิง และเมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มอายุ 30-39 ปี ฆ่าตัวตายมากที่สุด รองลงมา คือ อายุ 20-29 ปี และอายุ 40-49 ปี
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในช่วงนี้อาจเห็นว่ามีข่าวการฆ่าตัวตายปรากฏอยู่บ่อยครั้งแสดงว่ามีการฆ่า ตัวตายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ซึ่งในความเป็นจริง ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจาก 6 เดือนที่ผ่านมา ข่าวการฆ่าตัวตายในแต่ละเดือนจะอยู่ระหว่าง 11-25 ราย ส่วนใหญ่อยู่ที่เดือนละ 23-25 ราย ซึ่งเดือน มิ.ย. และ ก.ค. ข่าวการฆ่าตัวตายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เพียงแต่มีการรายงานข่าวใหญ่ในกรณีที่เป็นที่น่าสนใจและเป็นการพาดหัวใหญ่ ติดต่อกันหลายวัน
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การฆ่าตัวตายเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนมิได้เกิดขึ้นจากเหตุใดเหตุหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ ซึ่งสื่อมวลชนนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยลดปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในประเด็นสำคัญ ๆ ได้ เช่น
- กลุ่ม เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย อาทิ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้มีปัญหาสุรา ยาเสพติด ผู้ป่วยโรคจิต และผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางกาย (เช่น มะเร็ง หัวใจ อัมพาต) ซึ่งหากกลุ่มเหล่านี้มีการดูแลตนเอง และการดูแลจากครอบครัวดีจะลดการฆ่าตัวตายได้
- สำหรับวัยรุ่นและคน หนุ่มสาว การฆ่าตัวตายอาจจะมีลักษณะกะทันหันมากกว่าจากปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้ว เมื่อประสบวิกฤติ เช่น การเรียน สัมพันธภาพหรือการทำงานก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
- กลุ่มคนที่ฆ่า ตัวตายมักมีสัญญาณเตือน เช่น พูดบ่นว่าอยากตาย ท้อแท้ ไม่อยากเป็นภาระ เขียนจดหมาย ลาตาย เคยพยายามฆ่าตัวตาย มีความคิดฆ่าตัวตาย มีการสั่งเสีย ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มจะมีสัญญาณเตือนแตกต่างกัน เช่น กลุ่มวัยรุ่น มักจะเขียนจดหมายหรือโทรศัพท์ ขณะที่วัยผู้ใหญ่ มักจะเก็บตัวหรือพูดบ่นอยากตาย นอกจากนี้ ร้อยละ 9.1 ของผู้ฆ่าตัวตาย ระบุว่า ได้มีการทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลใกล้ชิดก่อนตัดสินใจ ทำร้ายตนเอง ซึ่งเพศชายมักแสดงสัญญาณเตือนทางพฤติกรรม ท่าทาง ขณะที่ผู้หญิงจะแสดงสัญญาณเตือนทางคำพูด ถ้าหากญาติสังเกตเห็นหรือบุคคลนั้นมีโอกาสพูดคุยหรือรับคำปรึกษาก็จะสามารถ ป้องกันการฆ่าตัวตายได้ เพราะมากกว่า ร้อยละ 37.9 ของผู้ฆ่าตัวตายจะส่งสัญญาณเตือนนี้ไปหาบุคคลใกล้ชิด (ภรรยา บุตร) ขณะที่ ร้อยละ 2.3 เพื่อนร่วมงานจะเป็นกลุ่มที่ได้รับสัญญาณเตือน
รองอธิบดีกรม สุขภาพจิต กล่าวต่อว่า จากการศึกษาทั่วโลก พบว่า ข่าวการฆ่าตัวตาย มีผลให้เกิดการเลียนแบบได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะจิตใจเปราะบาง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเสนอข่าวด้วย จึงมีแนวทางในการเสนอข่าวของสื่อมวลชน ดังนี้ไม่ พาดหัวใหญ่ ไม่ชี้ว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ไม่ใช้ภาษาที่ทำให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นทางออกของปัญหาชีวิต ไม่เสนอภาพข่าวซ้ำบ่อยๆ ไม่พรรณนาถึงวิธีการฆ่าตัวตายอย่างละเอียด ไม่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของครอบครัว ขณะเดียวกันก็ ควร ให้ความรู้ประชาชนให้เข้าใจปัญหา รู้จักเฝ้าระวัง และรู้แหล่งบริการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งประเทศไทยมีระบบริการที่สำคัญ คือ1. บริการสาธารณสุข ได้แก่ รพ. ชุมชน ซึ่งทุกแห่งมีผู้ให้คำปรึกษา และ รพศ./รพท. ซึ่ง 90 % มีจิตแพทย์ 2. บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และ NGO เช่น สะมาริตันส์ ที่มีผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการฝึกอบรม3. บริการ รพ.จิตเวช ซึ่งให้บริการทั้ง ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และผู้ป่วยฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญ ควรดูแลตัวเอง เพราะการติดตามทำข่าวการฆ่าตัวตายอาจสร้างความเครียดและความทุกข์ได้มาก จึงต้องหาทางออกให้ตนเองด้วย อาทิ พูดคุยระบายกับผู้ร่วมงาน เพื่อน คนในครอบครัว หรือองค์กรอื่นๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ สื่อมวลชนจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันการฆ่าตัวตายให้ได้ผลดีขึ้น สำหรับ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ ปี 2554 ในประเด็นการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ...ไม่คิดสั้น) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยให้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประสานขอความร่วมมือให้องค์กรสื่อสารมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนา มาตรการควบคุมการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายระหว่างสื่อมวลชนกันเอง โดยอาศัยมาตรการทางจรรยาบรรณวิชาชีพ สนับสนุนการนำเสนอข่าวสารด้านการสร้างความสุขใจ และสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ทางสุขภาพจิต การสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ การสร้างความรักความผูกพันในครอบครัว รวมทั้งชี้ช่องทางการเข้าถึงแหล่งให้บริการปรึกษาภายหลังที่มีการนำเสนอข่าว งดเว้นการนำเสนอภาพหรือเนื้อหา ที่สื่อถึงความรุนแรงและวิธีในการฆ่าตัวตายในสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะละคร สื่อภาพยนตร์ สื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการชื่นชมและเชิดชูเกียรติการทำงานของสื่อมวลชนที่ดี ในการส่งเสริมการสร้างความสุขใจ แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต และการป้องกันแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย นั้น กรมสุขภาพจิตจะเสนอให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านสื่อมวลชนจากผู้แทนสื่อมวลชน ให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเพื่อร่วมกันพัฒนามาตรการต่างๆ เกี่ยวกับสื่อมวลชนต่อไป รองอธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าว