อุปสรรคของผู้ประกอบการไทยคือไม่สร้างแบรนด์ ศศินทร์เตือนถึงเวลานักการตลาดติดอาวุธรับมือAEC

ข่าวทั่วไป Friday July 13, 2012 10:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ศศินทร์เตือนถึงเวลา SME สร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ไทยรับมือตลาด AEC พร้อมเร่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งการศึกษาตัวเองและสิ่งแวดล้อมของคู่แข่ง แนะกลยุทธ์ลดความเสี่ยงด้วยการเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และส่งสินค้าขายร่วมพันธมิตรก่อนคิดสร้างโรงงาน ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภาคธุรกิจไทยทุกประเภทต้องมีการปรับตัวและต้องศึกษาตลาดให้เร็วที่สุด เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันของตลาด กลยุทธ์การขายสินค้าและบริการ รวมทั้งเรื่องปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานและการขนส่งสินค้าฯลฯ สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ก็ไม่ควรประมาทเช่นกัน แม้ว่าบางบริษัทได้เข้าไปทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว แต่ความได้เปรียบก็อาจไม่ได้ช่วยได้ทุกเรื่อง เพราะต้องใช้เวลาในการศึกษาตลาดที่มีความแตกต่างทั้งด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันกันทั้งธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ของแต่ละประเทศที่มีแผนชัดเจนในการชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และธุรกิจระดับโลกที่มีความได้เปรียบด้านการลงทุน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจ SME จะได้รับผลกระทบจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ หากให้ความสำคัญกับการศึกษาตลาด ในที่นี้หมายถึงการศึกษาตัวเองว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องศึกษาคู่แข่งจากทั้ง 10 ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเริ่มต้นจากการสร้างและพัฒนาคนให้มีความพร้อม รวมทั้งการสร้างระบบงานให้มีประสิทธิภาพภายใน 3 ปีนี้ ส่วนการศึกษาคู่แข่งนั้นอาจเป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจขนาดย่อมเนื่องจากต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่ภาครัฐทั้งกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่สนับสนุนด้านการลงทุนก็มีนโยบายในการช่วยเหลืออยู่แล้ว เช่น การติดตามหน่วยงานของภาครัฐเดินทางไปศึกษาตลาดอย่างลึกซึ้ง ทั้งเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค จำนวนและรายได้ของประชากรของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งรูปแบบและแนวทางในการลงทุนในประเทศนั้น ๆ ดร.กฤษติกา กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาคู่แข่งจะทำให้เราทราบว่าการลงทุนในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายและมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งจะทำให้ทราบว่าเราควรไปลงทุนเองหรือลงทุนร่วมกับพันธมิตรในประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้ การบุกตลาดเพื่อนบ้านบางประเทศจะต้องศึกษาและทำความรู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น การลงทุนในประเทศพม่าซึ่งจะต้องหาพันธมิตรที่ไว้ใจได้ และควรนำร่องโดยการนำสินค้าไปขายก่อนที่จะวางแผนตั้งโรงงาน เพื่อลดความเสี่ยงและศึกษาตลาดในท้องถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมทางการตลาดแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ “ธุรกิจทุกประเภทสามารถนำหลักการตลาด 4P ไปใช้กับ AEC ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานการทำงานสำหรับผู้บริโภคทุกกลุ่ม แต่จะต้องมีความชัดเจนและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ เนื่องจากสินค้าที่ขายในประเทศไทย อาจไม่สามารถนำไปขายได้ในอินโดนีเซีย และลูกค้าที่มาเลเซียอาจไม่นิยม หรือแม้แต่ต้องศึกษาพฤติกรรมและรสนิยมที่แตกต่างของลูกค้าในแต่ละภูมิภาค ที่สำคัญทุกธุรกิจจะต้องสร้างแบรนด์เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากการทำให้แบรนด์แข็งแกร่งจะทำให้บุกตลาดได้ดีกว่า” ดร.กฤษติกากล่าว และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หัวใจสำคัญของการสร้างแบรนด์ในธุรกิจ SME ในยุคที่ตลาดต้องแข่งขันกันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาตินั้น ไม่ใช่การสร้างแบรนด์ให้ดังแต่จะต้องสร้างแบรนด์ให้ดี และเป็นที่น่ายินดีว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคในอาเซียนนั้นรู้จักดีต่อแบรนด์ที่เป็นของคนไทย ทั้งเรื่องคุณภาพและการให้บริการ ทั้งนี้ จุดอ่อนของธุรกิจ SME ของไทยก็คือยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ เนื่องจากยังมองว่าตนเองเป็นธุรกิจขนาดเล็กซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก แต่สิ่งที่จะต้องใช้ความเล็กให้เป็นประโยชน์และสร้างความเล็กให้ดูยิ่งใหญ่ โดยกลยุทธ์เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งจะง่ายกว่าการทำตลาดแบบมวลชน ที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่และทำให้เกิดความเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องติดอาวุธให้กับธุรกิจด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้นอกจากจะต้องแข่งกับตลาดอาเซียนแล้ว ยังต้องแข่งขันกับ แบรนด์ขนาดใหญ่ทั่วโลก หากวันนี้ไม่ศึกษาเพื่อเตรียมรับมือก็จะถูกไล่ล่าจากเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมกว่าอย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ