กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดให้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง “ระบบหลักประกันสุขภาพ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพกับความเป็นธรรมด้านสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน การดำเนินนโยบายด้านสุขภาพใดๆ ต้องไม่สวนทางกับการประกาศนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างความเสมอภาคในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชากรไทยทุกคนแม้ว่าจะอยู่ในระบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน โดยมี ศาสตรเมธี ดร.สุปรี วงศ์ดีพร้อม ประธานคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวเปิดการสัมมนา
เปิดประเด็นในเรื่อง "รักษามะเร็งมาตรฐานเดียว ข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย" โดย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งเป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย จึงควรปรับสิทธิ์ประโยชน์ และวิธีการรักษามะเร็งทุกโรค ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะยาที่มีราคาแพง และขอให้ทั้ง 3 กองทุน คือ 1)ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) 2)ระบบประกันสังคม 3)สวัสดิการของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจและบุคลากรของรัฐ ให้ความสำคัญกับการป้องกัน โดยรณรงค์ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
ด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณะสุข กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นการรักษาที่ใช้ต้นทุนสูง เนื่องจากยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งมีราคาแพง ดังนั้นหน่วยงานทั้ง 3 กองทุนควรจะหารือในการรักษาผู้ป่วยร่วมกัน และจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถทำให้หลักประกันสุขภาพเท่าเทียมกันทุกคน
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การรักษามะเร็งให้มีมาตรฐานเดียวกันขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะดูและประชาชนอย่างไร รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง รัฐบาลจะไม่ล้มละลายด้วยยารักษามะเร็ง แต่จะล้มละลายเพราะการคอร์รัปชั่น
น.ส.ภคมน ศิลานุภาพ นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า มาตรฐานการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกันนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการด้วย คือลดความเหลื่อมล้ำของทั้ง 3 กองทุน แต่การรักษาก็จะต้องได้มาตรฐานด้วย
การอภิปรายช่วงที่ 2 ในประเด็น "การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ : กรณีศึกษาการพิจารณาความเหมาะสมในการเรียกเก็บค่าบริการร่วม 30 บาท ณ จุดบริการด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ดร.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า มาตรการจ่ายร่วม 30 บาท เพื่อให้เป็นการคัดกรองผู้ป่วยไม่ให้มีลักษณะของการใช้บริการสุขภาพที่เกินความจำเป็น
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นต่อการพิจารณาความเหมาะสมในการเรียกเก็บเงินค่าบริการร่วม 30 บาท ดังนี้
- การเรียกเก็บเงิน 30 บาท ทางกระทรวงสาธารณสุขจะเรียกเก็บหรือไม่เรียกเก็บก็ได้ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุขอยากให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม เพื่อลดการเหลื่อมล้ำในสังคม
- การเรียกเก็บเงิน 30 บาท คิดว่าไม่เป็นประเด็น แต่อยากให้พัฒนาในเรื่องของมาตรฐานในการรักษา และการเข้าถึงบริการในการรักษาโรคให้มากกว่านี้
- อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานในการรักษาเป็น เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
- ไม่อยากให้มีการกลับมาเรียกเก็บเงิน 30 บาท เพราะในการไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งจะต้องหยุดงานก็ขาดรายได้ ต้องเสียค่าเดินทาง ซึ่งบางคนก็ไม่มีจ่าย และประชาชนต้องเสียภาษีทางอ้อมอยู่แล้ว จึงไม่ควรเรียกเก็บ 30 บาท
ทั้งนี้ คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาฯ จะนำข้อเสนอที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯและคณะรัฐมนตรีต่อไป