กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สป.
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.55 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นปัญหาการสร้างสภาวะโลกร้อน จึงได้จัดโครงการศึกษาเรื่อง “ การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม : กรณีศึกษาฟาร์มโคนม ”โดยมีนายนิวัตร ตันตยานุสรณ์ ประธานคณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติฯ ชี้แจงวัตถุประสงค์การสัมมนา และเปิดการสัมมนาโดย นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ” สภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมากในยุคปัจจุบัน แม้ประเทศไทยจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาหลายเท่าตัวก็ตาม แต่เราต้องมีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจก และเร่งพัฒนาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง พลังงานทางเลือก(Alternative energy) หรือ พลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่สะอาด สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ได้ต่อเนื่องไม่มีวันหมด และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อมลพิษต่างๆ เช่น พลังงานก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นแนวทางในการลดต้นทุนและเพิ่มรายรับทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรได้ในระยะยาว
ต่อมาเป็นการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “ การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร : นโยบาย รูปแบบการดำเนินงาน และประโยชน์ที่ได้รับ ” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.ณัฐริกา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง โครงการ CDM methodology กลไกการพัฒนาที่สะอาด กระบวนการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกในวิธีการต่างๆ เช่น การใช้ประโยชน์จากมูลโคหมักเป็นก๊าซชีวภาพ นำมาทดแทนก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคครัวเรือน ผลิตกระแสไฟฟ้า การเปลี่ยนระบบการจัดการทางเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่อากาศโดยตรง นำมาบำบัดสร้างก๊าซชีวภาพ(Bio gas) เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน การนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นน้ำมันดิบและน้ำมันไบโอดีเซล อีกทั้งการลดก๊าซเรือนกระจกจะส่งผลที่ดีต่อระบบสิ่งแวดล้อม ทำให้โคสุขภาพแข็งแรงสามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.วรรัตน์ ปัตรประกร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง เทคโนโลยีในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในภาคเกษตรกรรม การนำของเสียทางการเกษตรมาผลิตพลังงานเพื่อลดต้นทุนพลังงาน เพิ่มมูลค่าของเสีย ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตด้านสุขอนามัย กรณีศึกษาสหกรณ์โคนม การกระจายตัวของฟาร์มโคนม คือ พิจารณาการขนส่งมูลโคนมไปยังบ่อหมัก และการใช้ประโยชน์จากของเสีย นำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อเป็นก๊าซหุงต้ม ผลิตไฟฟ้า หรือนำมาทำปุ๋ย ซึ่งปัจจุบันมีการศึกษาหาตำแหน่งที่เหมาะสมของโรงผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลโคนมสำหรับสมาชิกสหกรณ์โคนม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สูงที่สุด
ด้านนางสาวแอนนา เขียวชอุ่ม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ กล่าวถึง หลักการและแนวทางการดำเนินงานโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด CDM ( Clean Development Mechanism) หรือ การขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นผู้ซื้อสิทธิ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นผู้ขายสิทธิ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเติมจากที่ปล่อยอยู่แล้ว ต้องเป็นโครงการที่มีการดำเนินการเพิ่มเติมจากธุรกิจปกติในด้านต่างๆ เช่น การลงทุนและสิ่งแวดล้อม ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยปฏิบัติการ ก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริง ตรวจวัดได้ และเป็นประโยชน์ในระยะยาวที่จะบรรเทาต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ คาดว่าผลจากการสัมมนา ซึ่งคณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูล จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป