กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์
L.P.N. แจงยอดขายลุมพินี วิลล์ พหล-สุทธิสาร เข้าเป้า ปิดยอดขายแล้วกว่า 30% ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของโครงการ ซึ่งนอกจากรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการแล้ว ลูกค้ายังเล็งเห็นความสำคัญของทำเลย่านจตุจักรในอนาคต ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ส่งผลให้โครงการมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เชื่อมั่นตลาดคอนโดขนาดกลางถึงกลางล่างไม่เป็นฟองสบู่ จากความต้องการที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและการศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาดอย่างดี
ลุมพินี ทาวเวอร์—นายทิฆัมพร เปล่งศรีสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการพรีเซลโครงการลุมพินี วิลล์ พหล-สุทธิสาร อาคารชุดพักอาศัยแห่งใหม่ใกล้สี่แยกสะพานควาย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมาว่า ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้า โดยสามารถปิดการขายได้แล้ว 255 ยูนิต คิดเป็น 30 % ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด 861 ยูนิต โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงตอบรับที่ดี นอกจากทำเลที่ตั้งโครงการที่มีศักยภาพ ใกล้ แหล่งธุรกิจที่สำคัญบนถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต ซึ่ง L.P.N. ถือเป็นผู้บุกเบิกทำเลใหม่แห่งนี้ โดยที่ภาครัฐ ผังเมืองใหม่ และแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน ได้กำหนดให้จตุจักรเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในระยะ 6 ปีข้างหน้า ทั้ง Bus Terminal ขนาดใหญ่ จุดเชื่อมต่อของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและสถานีรถไฟจากภาคเหนือและอีสาน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่โครงการนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ด้วยการวิเคราะห์ด้านการตลาดที่ชัดเจนของฝ่ายวิจัยและพัฒนาของบริษัท จึงพบว่าลูกค้าของโครงการดังกล่าวตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ได้แก่ 1) กลุ่มคนที่ทำงานในอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ เช่น Exim Bank ธนาคารทหารไทย กสิกรไทย ธนาคารออมสิน อาคารชินวัตร ฯลฯ ที่รายล้อมอยู่บนถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต 2) ผู้เช่าหอพักหรืออพาร์ตเมนท์ในย่านดังกล่าวซึ่งต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง 3) กลุ่มคนที่เคยอาศัยอยู่ในย่านดังกล่าว แต่ต้องการขยายครอบครัวในทำเลเดิม รวมถึงครอบครัวใหม่ (nuclear family) หรือกลุ่ม Double Income No Kid คือกลุ่มครอบครัวใหม่ที่ยังไม่มีบุตร แต่สามีและภรรยาต่างก็มีรายได้เป็นของตนเอง และ 4) ผู้ซื้อเพื่อการลงทุน ที่เล็งเห็นว่าทำเลดังกล่าวจะเพิ่มศักยภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
“สำหรับความกังวลของหลายๆ ฝ่ายต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ หรือยอดขายที่ไม่รวดเร็วเหมือนปี 2546 นั้น หากพิจารณาถึงความต้องการที่อยู่อาศัยโดยเทียบกับจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ประมาณ ปีละ 15,000-20,000 ยูนิต ในขณะที่จำนวนคอนโดมิเนียมสร้างเสร็จและจดทะเบียน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2547 จะอยู่ที่เพียงประมาณ 1,700 กว่ายูนิตเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า ยังคงมีช่องว่างทางการตลาดอีกจำนวนมาก ซึ่งคอนโดมิเนียม เปิดตัวใหม่จะกระจุกตัวอยู่ที่เพียงบางทำเล เช่น สุขุมวิท และเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ L.P.N. ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงทำเล และราคาที่ชัดเจน โดยมุ่งฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-กลางล่าง ซึ่งซัพพลายที่มีอยู่ยังไม่สอดคล้องกับดีมานด์ในลูกค้ากลุ่มนี้ จึงมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดภาวะฟองสบู่อย่างแน่นอน” นายทิฆัมพรกล่าวเสริมในตอนท้าย
วิจิตร อวิรุทธิ์, เสาวนีย์ จีระเดชาธรรม โทร. 02-285-5011-6 ต่อ 500, 502--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--