กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิบัตรยาเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาและความมั่นคงของยา เสนอรัฐเร่งดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิบัตรยา กระตุ้นให้เกิดการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาในประเทศอย่างต่อเนื่อง และสร้างเสริมความมั่นคงทางสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการผลิตยา ร่วมแสดงความเห็น ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการ กล่าวถึงสิทธิบัตรยา คือการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ/บังคับใช้สิทธิต่อยาที่มีสิทธิบัตร คือการที่รัฐบาลตัดสินใจผลิตหรือนำเข้ายาซึ่งเอกชนถือสิทธิอยู่ตามกฎหมายสิทธิบัตร โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ตามที่กฎหมายกำหนด จากเดิมที่รัฐให้สิทธิผูกขาดด้านการผลิต นำเข้า จำหน่าย และใช้ประดิษฐกรรมตัวยาดังกล่าวแก่เอกชนรายนั้น ๆ เป็นระยะเวลา 20 ปี ปัจจุบันพบว่ากว่า 90% ในการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรยา เป็นบริษัทขายยาจากต่างชาติ ทำให้การวิจัยและพัฒนาของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศ ไม่สามารถยื่นคำขอรับสิทธิบัตรยาได้ และประชาชนไม่อาจเข้าถึงยาในการรักษาโรคในราคาที่ถูกลง จึงทำให้ประเทศต้องศูนย์เสียเงินในการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
ซึ่งระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรที่ยาวนานถึง 20 ปี เป็นเหตุขัดขวางการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยในการผลิตยา จึงจำเป็นต้องมีระบบในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากการคุ้มครองสิทธิบัตรที่ดีพอ ทั้งนี้ในเวทีมีการแสดงความเห็นในหลากหลายประเด็น ดังนี้
นางวราลี ไวยิ่ง นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรชำนาญการพิเศษ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการฐานข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรต่างๆ กล่าวชี้แจงว่า ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมานี้ ได้รับเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการดำเนินงานของทรัพย์สินทางปัญญาด้านความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากการที่บุคลากรให้ความสำคัญต่อการขอรับความคุ้มครอง โดยเฉพาะการขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ปริมาณงานที่เข้ามามาก อีกทั้งการที่บุคลากรขาดความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา งานที่ยื่นเข้ามาขอรับความคุ้มครองจึงไม่สามารถยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ทันที เจ้าหน้าที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสืบค้นและปรับปรุงร่างคำขอให้มีสาระสำคัญครบถ้วน
ภก.ทัฬห ปังเจริญกุล ผู้อำนวยการบริหารสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน(TPMA) กล่าวว่า ปัญหาที่พบเกี่ยวกับเรื่องการใช้ฐานข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรยา คือ การสืบค้นฐานข้อมูลเรื่องยา ทั้งภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตยาและผู้ประกอบการต่างประสบปัญหาเดียวกัน คือไม่สามารถใช้คำค้นหาได้อย่างถูกต้องเนื่องจากใช้การสืบค้นเป็นภาษาไทย ในเรื่องสิทธิบัตรยา จะหมดอายุเมื่อไร ยาใหม่ๆที่ยื่นคำขอรับรองสิทธิบัตรมีอะไรบ้าง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ จึงทำให้นักวิจัยและพัฒนาไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการศึกษาและพัฒนาตัวยาตัวใหม่ออกได้ทัน
ด้าน ภญ.ลักษมีเพ็ญ สารชวนะกิจ ผู้ดูแลกลุ่มงานด้านศูนย์ข้อมูลสิทธิบัตร สถาบันวิจัย และพัฒนา องค์การเภสัชกรรม กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาที่พบในการใช้ฐานข้อมูลฯ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบประเด็นปัญหาดังนี้
- เรื่องการใช้คำสืบค้น ที่เป็นชื่อทับศัพท์ในภาษาอังกฤษ ควรระบุให้มีการใช้คำสืบค้นเป็นภาษาอังกฤษ และให้ใช้ชื่อที่บริษัทจดทะเบียนไว้
- ปัญหาการเปิดหน้าโฆษณาไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถทราบข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นเช่น การยื่นคำขอสิทธิบัตรครั้งแรกที่ประเทศใด จึงควรตรวจสอบการลงข้อมูลเหล่านี้ด้วย
- ฐานข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้คำสืบค้นเดียวกัน แต่ห่างกันเพียง 3-5 นาที แต่จำนวนข้อมูลที่ได้มีจำนวนไม่เท่ากัน ทำให้ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ
ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ (NECTEC) กล่าวว่าข้อมูลสิทธิบัตรยามีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ เพื่อให้เกิดการวิจัยพัฒนาและให้มีการใช้ยาในประเทศได้อย่างพอเพียง ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ จึงต้องมีการทำให้ฐานข้อมูลสิทธิบัตรยาให้ทันสมัยและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการออกระเบียบการขึ้นทะเบียนยาใหม่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำข้อมูลไปใช้
นอกจากนี้ มีการเสนอความเห็นต่อที่ประชุม เกี่ยวกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรยา โดยมีความเห็นดังนี้
- กลุ่มผู้ผลิตยาในประเทศ มักใช้การสืบค้นข้อมูลเรื่องตัวยา จากเว็บไซต์ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่จะใช้ระบบสืบค้นเรื่องสิทธิบัตรยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเห็นด้วยที่จะมีฐานข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษ หรือระบบ 2 ภาษา เพื่อลดปัญหาในการสืบค้นกรณีศัพท์เฉพาะ
- เสนอให้ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตร แปลภาษาให้เป็น 2 ภาษาด้วย เพื่อช่วยให้ฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการใช้การสืบค้นคำต่างๆ ใช้งานได้ง่ายขึ้น
- ควรกำหนดให้ค่าลงทะเบียนในการยื่นคำขอสิทธิบัตร มีราคาที่สูงกว่าในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้มีการยื่นคำขอฯ แบบหว่านลงไป แล้วทำให้ผู้อื่นไม่สามารถต่อยอดการวิจัยและพัฒนา
- ควรเพิ่มการจัดสรรบุคลากรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการจัดเวทีรับฟังความเห็นในครั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ จะได้นำไปรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “การพัฒนาฐานข้อมูลสิทธิบัตรยาเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาและความมั่นคงทางยา เสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป