กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ เผยตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 6 เดือน เฉียด 700 โครงการ เงินลงทุนกว่า 280,000 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มกว่าร้อยละ 66.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ย้ำความเชื่อมั่น ไทยเป็นแหล่งลงทุนสำคัญในอาเซียน เตรียมเดินหน้าจัดกิจกรรมดึงการลงทุนช่วงครึ่งปีหลัง พร้อมเปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่มุมไบ หวังดึงการลงทุนจากอินเดีย กลางเดือน ส.ค.นี้
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ช่วง 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2555) ว่า นักลงทุนต่างชาติ ให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 692 โครงการ เงินลงทุน 278,470 ล้านบาท จำนวนโครงการขยายตัว ร้อยละ 32.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 522 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนขยายตัวร้อยละ 66.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 167,274 ล้านบาท
ทั้งนี้ กิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59 จากจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด เป็นการขอขยายการลงทุนจากโครงการเดิม โดยมีจำนวน 409 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 185,519 ล้านบาท ส่วนที่เหลือหรือประมาณ ร้อยละ 41 เป็นการลงทุนของกิจการใหม่ จำนวน 283 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 92,952 ล้านบาท
สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน กระจายอยู่ในการลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมา มีกิจการขนาดใหญ่ ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว 36 โครงการ อาทิ กิจการขนส่งทางอากาศ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กิจการผลิตเหล็กทรงแบนของบริษัท นิปปอน สตีล กัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งอาหารของบริษัท เอฟเอ็มซี เคมิคัล (ประเทศไทย) จำกัด กิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง เป็นต้น
ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น มีจำนวน 389 โครงการ เงินลงทุนรม 176,298 ล้านบาท มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 144 สิงคโปร์ มีจำนวน 69 โครงการ เงินลงทุน 18,096 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมาเลเซียมีจำนวน 17 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 11,352 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 156 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
อุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง 240 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 108,882 ล้านบาท รองมาเป็น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 134 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 59,658 ล้านบาท กิจการบริการและสาธารณูปโภค 130 โครงการ เงินลงทุน 42,705 ล้านบาท กิจการเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก 97 โครงการ เงินลงทุน 27,331 ล้านบาท กิจการเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 38 โครงการ เงินลงทุน 17,755 ล้านบาท เป็นต้น
นางอรรชกา กล่าวว่า เป้าหมายของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 ทำให้ทุกประเทศในอาเซียน ให้ความสำคัญกับการดึงการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ทิศทางของการลงทุนจากต่างประเทศในไทยที่มีการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก จะยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยยังได้รับความสนใจต่อการเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค และเชื่อมั่นว่าทิศทางดังกล่าวจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งจะทำให้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมปีนี้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 630,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอจะเดินหน้าจัดกิจกรรม เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงครึ่งปีหลังนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของการจัดกิจกรรมโรดโชว์ประเทศต่างๆ เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน สหรัฐอเมริกา รวมถึงการเปิดสำนักงานแห่งใหม่ ที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ซึ่งจะป็นสำนักงานบีโอไอ ในต่างประเทศแห่งที่ 14 ภายในกลางเดือนสิงหาคม 2555 มั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุนจากอินเดียให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก