ไทยสบช่องส่งออกวัสดุก่อสร้างโลก แรงไม่หยุด ในญี่ปุ่นเร่งสร้าง-ฟื้นฟูบ้านก่อนภาษีปรับเพิ่ม ส่วนแคนาดารัฐผุดโปรเจ๊กเฉียด1ล้านล้าน ชี้ตลาดต้องการอีโค โปรดักท์

ข่าวทั่วไป Tuesday July 17, 2012 11:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--กรมส่งเสริมการส่งออก นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฟูกูโอกะ กรมส่งเสริมการส่งออก รายงานภาวะการค้าวัสดุก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น ในปีงบประมาณ 2555(เม.ย.55-มี.ค.56)มีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยใหม่จำนวน 876,000 หลัง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.2% และประมาณการในปีงบประมาณ 2556 (เม.ย.56-มี.ค.57)จะมีการก่อสร้างบ้านพักอาศัยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 916,000 หลัง เพิ่มขึ้น4.6% เมื่อเทียบกับปี 55 “ความต้องการในภาคการก่อสร้างของภาคเอกชน ในครึ่งปีแรกของปี 55 มีปัจจัยในการฟื้นฟูความเสียหายจากภัยธรรมชาติเป็นสำคัญ ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังจนถึง ปี 56 ปัจจัยส่งเสริมขยายตัว เนื่องมาจากมีแนวโน้มที่รัฐจะปรับเพิ่มอัตราภาษีบริโภค ในปี 2557 ซึ่งจะส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้ผู้บริโภคเร่งการก่อสร้าง ก่อนที่จะปรับภาษีเพิ่มขึ้น”นายภูมิ กล่าว ราคาวัตถุดิบอุตสาหกรรมในตลาดเอเชีย มีราคาลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบข้างเคียงของวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป อันเป็นผลสืบเนื่องจากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีนไปยังกลุ่มยุโรปชะลอตัว ส่งผลให้วัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าส่งออกล้นตลาด อาทิ ยางสังเคราะห์และเส้นใย ลดลง 20% ภายในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนราคาวัสดุก่อสร้างในญี่ปุ่น ราคาก็ลดลงและทรงตัวเช่นกัน แม้ว่าจะมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะดึงราคาให้สูงขึ้นได้ ประกอบกับจีนนำเข้าปริมาณเหล็กกล้าจากญี่ปุ่นในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามถือว่า สินค้ายังมีโอกาสอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจทำตลาด นายภูมิ กล่าวว่า กระแสการใช้วัสดุก่อสร้างผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังให้ความใส่ใจกับการประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง สินค้าจึงได้เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศ(ECO Product) ที่ช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้วัสดุก่อสร้างสำหรับต่อเติม หรือตกแต่งได้รับความนิยมสูง จากตัวเลขเฉพาะ 4 บริษัทรายใหญ่ ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ขยายตัวมีมูลค่า 21,400 ล้านเยน หรือ มียอดจำหน่ายเพิ่มสูงถึง300% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวเสริมว่า สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ แวนคูเวอร์ ได้สถานการณ์การค้าวัสดุก่อสร้างในแนวทางเดียวกันว่า มีโอกาสทำตลาดเช่นกัน โดยในช่วง 4 เดือนแรก แคนาดานำเข้าวัสดุก่อสร้างจากทั่วโลกกว่า 2,043 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(61,000 ล้านบาท)หรือ เพิ่มขึ้น 14% แบ่งเป็นนำเข้าจากไทย 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ลดลง 3% ซึ่งเกือบครึ่งนำเข้าจากสหรัฐฯ รองลงมาเป็นจีน เม็กซิโก ไต้หวัน “แคนาดายังคงต้องนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากแหล่งผลิตที่มีราคาถูกกว่าที่ผลิตในประเทศ ขณะที่รัฐบาลกลางมีการตั้งโครงการ ที่มีงบประมาณสูงถึง 3.3 หมื่นล้านเหรียญแคนาดา ( 9.9 แสนล้านบาท) จึงส่งเสริมธุรกิจก่อสร้างทั่วประเทศจากนี้ไปจนถึงปี 57 เน้นให้มีการก่อสร้างสถานศึกษา โรงเรียน สถาบันวิจัย พร้อมๆ กับรัฐบาลมีนโยบายต่อเนื่องที่จะส่งเสริมบูรณะ ตกแต่งสถานที่อยู่อาศัยในหลายเขต โดยจูงใจลดเงินภาษีบางส่วนให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น” นางนันทวัลย์ กล่าว สำหรับลู่ทางการทำตลาดนั้น ผู้ประกอบการแคนาดาส่วนใหญ่เป็นขนาดกลาง-เล็ก จึงรวมตัวเป็นสมาคม มีสมาชิกประมาณ 200 บริษัท ซึ่งมีการสื่อสารภายในอย่างเข้มแข็ง จึงมักมีการเลือกรวมกลุ่มซื้อสินค้าในแนวทางเดียวกัน หากสินค้าไทยเจาะตลาดกลุ่มนี้ได้ โดยใช้ปัจจัยด้านคุณภาพและราคาจะมีการแนะนำต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ หรือ การทำตลาดกับร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้างโดยตรง (ไม่มีการค้าส่ง) นอกจากนี้ผู้ออกแบบสินค้าควรหันมาผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ สินค้าที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและการใช้งานในแคนาดา อย่างไรก็ตามการก่อสร้างต่อเติมจำเป็นต้องได้รับอนุญาตตามเกณฑ์จากภาครัฐที่กำหนดไว้มูลค่าและจำนวนในแต่ละปี และอื่นๆ ที่สามารถสอบถามจากทูตพาณิชย์ในแคนาดาได้ เพื่อได้ข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจน สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการส่งออก โทร.(02) 507-7932-34

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ