กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--ไดเร็คชั่น แพลน
นิตยสารไฟฟ้าสาร นิตยสารราย 2 เดือน ที่มีวิศวกรไฟฟ้าอ่านมากที่สุดในประเทศ
ฉบับ พ.ค.-มิ.ย.55 พบกับสัมภาษณ์พิเศษ : พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ในประเด็นเร่งแผนแม่บท ดันไทยเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของอาเซียน เพราะ กสทช. ถือเป็นหน่วยงานที่ถูกจับตามองและถูกตั้งความหวังจากสังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากองค์กรอิสระนี้มีหน้าที่สำคัญในการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งนิตยสารไฟฟ้าสารได้มีโอกาสสัมภาษณ์วิสัยทัศน์และทิศทางการดำเนินงานของ กสทช.จากประธานคนปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เราทราบถึงทิศทางการดำเนินงานของ “การสื่อสารของประเทศไทย” นับแต่นี้ไป
นอกจากนั้นยังมีสาระน่ารู้เกี่ยวกับไฟฟ้ามากมายให้ติดตาม อาทิ ไฟฟ้ากำลังและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง : ผลกระทบด้านแรงดันเกินจากการติดตั้งโซลาร์ฟาร์มในพื้นที่มีโหลดต่ำนิตยสารไฟฟ้าสารได้เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับผลกระทบของแหล่งกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็กหรือที่มักเรียกกันว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP) ที่มีขนาดไม่เกิน 8 MW สำหรับระบบจำหน่าย 22 kV และ 10 MW สำหรับระบบจำหน่าย 33 kV ซึ่งประเด็นที่ควรให้ความสนใจประเด็นหนึ่ง คือ ผลกระทบด้านแรงดัน โดยเฉพาะปัญหาแรงดันเกินในช่วงที่มีโหลดในระบบต่ำ ในฉบับนี้จึงขอนำมาเน้นย้ำอีกครั้งเนื่องจากพบว่ามีปัญหาแรงดันเกินเพิ่มยิ่งขึ้น เนื่องจากมีโซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm) เข้ามาเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้ามากขึ้นในพื้นที่ที่มีโหลดในระบบต่ำ
ไฟฟ้าสื่อสารและคอมพิวเตอร์ : การเพิ่มช่องสื่อสารโดยการใช้คลื่นวิทยุแบบเกลียว
จากความต้องการติดต่อสื่อสารในแบบมัลติมีเดียที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อัตราความต้องการใช้คลื่นความถี่วิทยุเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่คลื่นความถี่วิทยุมีจำกัด ต้องมีการจัดสรรให้ใช้งานอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม แต่ปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่วิทยุอาจบรรเทาลงได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะกลุ่มนักวิจัยชาวอิตาลีร่วมกับนักวิจัยชาวสวีเดนได้ทดลองส่ง/รับคลื่นวิทยุ 2 ลำที่ความถี่เดียวกัน แต่ได้มีการบิดคลื่นลำหนึ่งให้เป็นเกลียว ผลการทดสอบพบว่าสามารถดีมอดูเลดสัญญาณทั้งสองได้อย่างชัดเจนน่าพอใจ จึงเป็นนิมิตที่ดีว่าในอนาคตเราจะสามารถใช้สื่อสัญญาณต่าง ๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น
Innovation News : แบตเตอรี่รุ่นใหม่ ใช้ได้หมดจนหยดสุดท้าย
แบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ให้พลังงานไฟฟ้าที่สามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาแขวนบอกเวลาหรือนาฬิกาปลุกที่หัวเตียง ไฟฉาย รีโมตคอนโทรล ของเล่นเด็ก และอื่น ๆ อีกมากมาย อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนต้องการพลังงานจากแบตเตอรี่เพื่อการทำงาน และต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เพื่อให้ทำงานต่อไปได้ แต่รู้หรือไม่ว่าแบตเตอรี่ที่เราคิดว่าหมดพลังงานแล้วทิ้งไปนั้นจริง ๆ ยังมีพลังงานอยู่ ทำอย่างไรเราจึงจะใช้พลังงานในแบตเตอรี่ได้หมดจนไม่มีเหลือ ที่น่าสนใจคือมีผู้คิดค้นและสร้างแบตเตอรี่รุ่นใหม่ขึ้นมาซึ่งสามารถใช้ได้หมดจนหยดสุดท้าย มาดูกันว่าแบตเตอรี่ที่ว่านี้มีหน้าตาและความพิเศษอย่างไร