กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--โรงพยาบาลนนทเวช
ช่วงหน้าฝนแบบนี้ มักมีโรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่าย รวดเร็วและมีโอกาสเสียชีวิตโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลานว่ามีอาการผิดปกติที่ก่อให้เกิดโรคบ้างหรือไม่? ซึ่งโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงนี้คือ “โรคมือ เท้า ปาก”
นพ.วีระกิจ หิรัญวิวัฒน์กุล กุมารแพทย์ประจำศูนย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลนนทเวช กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot Mouth Disease) ไม่ใช่โรคใหม่ เป็นโรคที่มีมานานแล้วและมักระบาดในช่วงหน้าฝน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสค็อกซากี (Coxsackie) พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักแสดงอาการคล้ายเป็นไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอและมีตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณคอ ปาก เหงือก ลิ้น ส่วนผื่นมักจะพบบริเวณมือเท้าและก้น สามารถหายได้เองในเวลา 5 - 7 วัน แต่หากมีการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรงบางชนิด เช่น เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กเสียชีวิตได้ เนื่องจากทำให้เยื่อหุ้มสมองหรือก้านสมองอักเสบ
อย่างไรก็ตามผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน เชื้อโรคมัก แพร่กระจายออกมากับอุจจาระหรือละอองน้ำมูก น้ำลาย ของเด็ก โรคนี้จะเกิดได้ง่ายมากในเด็กเล็กที่ชอบเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกัน ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็กหรือในกลุ่มญาติพี่น้องที่อยู่รวมกันมากๆ หากพบว่าเป็นโรคมือ เท้า ปาก ไม่ควรให้ไปโรงเรียน และถ้ามีไข้ขึ้นสูงไม่ควรปล่อยให้นานเกิน 3 วัน ควรรีบเช็ดตัวและพาเด็กไปพบแพทย์ทันที เพราะโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่เราสามารถป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย เช่น ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและภายหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ใช้ช้อนกลาง ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ เสื้อผ้า ของเด็กเล่น ไม่ควรนำเด็กเล็กไปที่สาธารณะหรือคนพลุกพล่านเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น สระว่ายน้ำ ห้างสรรพสินค้า
นอกจากการป้องกันดูแลตามที่กล่าวมาแล้ว ผู้ปกครองยังคงต้องแนะนำ“วิธีล้างมือ”โดยใช้สบู่ให้แก่บุตรหลาน และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ กินร้อน ช้อนกลาง ก็จะสามารถลดโอกาสการติดเชื้อเพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปากและป้องกันโรคอื่นๆได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังร่วมป้องกันโรคอื่นๆโดยการฉีดวัคซีนตามกำหนด