สภาอุตฯ ออกโรง กระตุ้นรัฐเฝ้าระวังน้ำแล้งภาคตะวันออก

ข่าวทั่วไป Wednesday July 18, 2012 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจับมืออีสท์ วอเตอร์ เตือนทุกฝ่ายให้ทำแผนรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมโดยเฉพาะในภาคตะวันออก เนื่องจากมีหลายปัจจัยแสดงแนวโน้มคล้ายเหตุการณ์ปี พ.ศ.2547 ที่ฤดูฝนน้ำน้อยและเป็นสาเหตุของภัยแล้งปี พ.ศ. 2548 นายธีระศักดิ์ ผดุงตันตระกูล รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกขณะนี้อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง เนื่องจากหลายปัจจัยรวมทั้งปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าที่ปีผ่านมาและส่วนใหญ่ตกนอกบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงอย่างมากและอาจทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งขึ้นได้ “จากการติดตามระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ระยอง พบว่าสถานการณ์น้ำขณะนี้ไม่น่าไว้ใจ จึงจำเป็นที่จะต้องเริ่มใช้แผนรับมือสถานการณ์ที่มีสัญญาณว่าปีนี้น้ำจะน้อย คือการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งกรมชลประทานมีการวางท่อไว้อยู่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ภาคอุตสาหกรรมจึงทำหนังสือถึงกรมชลประทานเพื่อขอให้เร่งการผันน้ำ เพื่อเตรียมมาตรการรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น" นายธีระศักดิ์กล่าว ทั้งนี้ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มาสู่ลุ่มน้ำคลองใหญ่ยังขาดงบประมาณในการดำเนินการ เนื่องจากน้ำที่สูบส่งมา จะนำไปใช้ในหลายส่วนทั้งภาคเกษตรกรรม อุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ดังนั้น สถาบันน้ำเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงขอให้ภาครัฐเร่งรัดการจัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายน้ำจากลุ่มน้ำประแสร์ — ลุ่มน้ำคลองใหญ่ จังหวัดระยอง ที่ได้ผ่านการพิจารณาไปแล้วในการประชุม ครม.สัญจรที่ จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่ากระแสไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และการประสานงานร่วมกับท้องถิ่น นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำที่ส่งจ่ายให้ประชาชนอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกว่า มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ต้นปี ถึงเดือน ก.ค. 55 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก คือ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ (ณ วันที่ 13 ก.ค.2555) มีปริมาณ 137.40 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.9 ของความจุอ่าง หากในฤดูฝนนี้ฝนตกน้อยจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในช่วงปลายปีมีน้อยและมีโอกาสที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำขึ้นได้ในฤดูแล้งของปีหน้า เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำดังกล่าวจึงต้องหามาตรการรองรับ โดยในส่วนนี้ภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำหรือวอร์รูม (War Room) ขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำร่วมกันพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก เพราะหากเกิดวิกฤติภัยแล้งขึ้นดังเช่นในปี พ.ศ. 2547-2548 จะทำให้เกิดความเสียหายของภาคการเกษตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,600 ล้านบาท และภาคอุสาหกรรมกว่า 3 แสนล้านบาท ล่าสุดบริษัทฯร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ แต่ยังพบปัญหาท่อแตกชำรุดบ้างและได้มีเร่งรัดการซ่อมแซม เพื่อให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. มองสถานการณ์น้ำในอีสเทิร์น ซีบอร์ดขณะนี้ว่า จัดอยู่ในระดับเฝ้าระวัง หากฝนตกไม่เพียงพอ จะต้องหามาตรการรับมือภัยแล้งต่อไป โดยจะต้องวางระบบการจัดหาแหล่งน้ำ เช่น การหาแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียงมาสำรองใช้ การนำน้ำที่เหลือจากกระบวนการผลิตในโรงงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งโรงงานแต่ละแห่งจะมีการจัดทำแผนจัดหาน้ำสำรองของตนเองด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส คอนซัลติ้ง จำกัด โทร. 02 718 1886

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ