กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค
“เอชเอสบีซี” ธนาคารชั้นนำระดับโลก มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพและทักษะเชิงธุรกิจแก่เยาวชนไทย เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทย ร่วมแสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะเชิงธุรกิจ เพื่อก้าวสู่โลกธุรกิจในอนาคต ในโครงการประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ ปี 2555” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 โดยล่าสุดได้คัด สุดยอด 6 ทีมสุดท้ายมาประชันไอเดียธุรกิจรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ชิงถ้วยรางวัลและทุนการศึกษามูลค่ากว่า 200,000 บาท ผลปรากฏว่า ทีม Just Dude It จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเสนอแผนงานชนะใจกรรมการเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันชิงสุดยอดแผนธุรกิจระดับเอเชีย-แปซิฟิก ที่ฮ่องกงต้นเดือนสิงหาคม ศกนี้
นายแมตทิว ล็อบเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ธนาคารเอชเอสบีซี รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะในเชิงธุรกิจ ผ่านโครงการประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีนับเป็นปีที่ 8 และในปีนี้ธนาคารฯ ได้เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษาทุกระดับได้ร่วมประชันความสามารถอย่างเต็มที่ โดยทีมที่เข้าร่วมแข่งขันมีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะเชิงธุรกิจผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ อาทิ การเขียนแผนธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน และทักษะการนำเสนอแผนธุรกิจอย่างมืออาชีพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็น นักธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต โดยทีมชนะเลิศของไทย ทีม Just Dude It จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้รับสิทธิ์ร่วมแข่งขันเพื่อชิงรางวัลสุดยอดแผนธุรกิจระดับเอเชีย-แปซิฟิก (Best of the Best Award) กับทีมชนะเลิศจากประเทศ ฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ เวียดนาม และบรูไน พร้อมทุนการศึกษามูลค่ากว่า 100,000 เหรียญดอลลาร์ฮ่องกง และทัศนศึกษาพิเศษที่ประเทศฮ่องกง ต้นเดือนสิงหาคมศกนี้”
นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างไม่หยุดยั้งในโลกธุรกิจ เรายังได้มอบรางวัลพิเศษอีก 1 รางวัล คือ “รางวัลแผนธุรกิจเทคโนโลยี” (Technopreneur Award) ให้แก่ทีม Just Dude It ที่จัดทำแผนธุรกิจที่สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกด้วย นายแมตทิว กล่าวเพิ่มเติม
ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศครั้งนี้ นอกจาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ที่ร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินแล้ว โครงการประกวดฯ ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจชั้นนำร่วมเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วย ได้แก่ มร. จอห์น ไฮเน็ค รองประธานบริหาร บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารซิซซ์เล่อร์ในประเทศไทย นางเกษสุดา ไรวา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และนายอังเดรย์ แวน เอส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท บีทาเก้น จำกัด
ผลการประกวดโครงการประกวดแผนธุรกิจ “เอชเอสบีซี ยอดนักธุรกิจรุ่นใหม่ ปี 2555” มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ (Gold Award) ทีม “Just Dude It” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายมาวิน จิรไพศาลกุล นางสาวกัญญาณัฐ ปิติเจริญ และนายภาสกร ธรรมวรรณ์ ที่ก่อนหน้านี้คว้ารางวัลพิเศษ “รางวัลแผนธุรกิจเทคโนโลยี” (Technopreneur Award) ไปครอง โดยเสนอแผนธุรกิจ “New Line” ระบบการจองห้องพักด้วยเทคโนโลยีระบบ Reverse Auction แสดงรูปที่จูงใจลูกค้าและสร้างมิติใหม่ในการจองพร้อมช่วยแก้ไขปัญหา อาทิ ปัญหาการสำรองห้องพักไว้มากจนเกินไป
รางวัลรองชนะเลิศ (Silver Award) ทีม “EnerTEG” จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีสมาชิกในทีมจำนวน 2 คน ประกอบด้วย นายพีร์โศภิษฐ์พงศธร และนายพงศ์พัฒน์ ศรีจันทร์ ที่นำเสนอแผนธุรกิจ EnerTEG Co. เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ “TEG” (เทอร์โมอิเล็กทริก) ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 70% ในการนำเชื้อเพลิงจากภาคอุตสาหกรรมกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า
รางวัลรองชนะเลิศ (Bronze Award) ได้แก่ ทีม “The Trio” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวฐานิมา นาคมั่น นางสาวชะรอยบุญ ตันตระวิวัฒน์ และนายธวัชชัย วิกิณิยะธนี ที่นำเสนอแผนธุรกิจ “NutriWheat” (นิวทริวีท) แป้งอัศจรรย์เพื่อสุขภาพสำหรับใช้ทำอาหารและเบเกอรี่ โดยมีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำจึงสามารถควบคุมน้ำหนักได้ ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ทำจากแป้งโดยไม่ต้องกลัวอ้วนอีกต่อไป
ส่วนรางวัลชมเชย หรือ Merit Award มี 3 รางวัล
(1) ทีม “The Comebacks” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีสมาชิกในทีมเป็นสุภาพสตรีล้วน ประกอบด้วย นางสาวจิณห์จุฑา ณ ศรีโต นางสาวมณสินีย์ สัตยารักษ์ และนางสาวสุทธิดา รอดสวาสดิ์ ที่นำเสนอแผนธุรกิจ “B-There” เครื่องป้องกันภัยสำหรับผู้หญิงในรูปแบบเครื่องประดับผสานกับการใช้เทคโนโลยีบลูทูธ โดยให้เครื่องประดับเป็นตัวส่งสัญญาณเมื่อมีภัยเกิดขึ้น
(2) ทีม “Phenomenon” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวพัชรพร ลีลาวิชิตชัย นางสาวญาดา ปิยะจอมขวัญ และนางสาววันดนา หาญวรเกียรติ นำเสนอแผนธุรกิจ Smartware ซึ่งเป็นการคิดค้นกล่องบรรจุอาหาร KeepSmart ที่สามารถแสดงค่าความเน่าเสียของอาหารให้ทราบว่าควรจะบริโภคอาหารที่เหลือเมื่อใด และเมื่อใดอาหารจะเน่าเสียจนไม่สามารถบริโภคได้ เป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค และยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณขยะที่เหลือทิ้งได้ด้วย
(3) ทีม “Synewgy” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยนายณพล กำธรกิตติกุล นางสาวนัททินี แซ่โอ และ นางสาวของชนก แพร่พิพัฒน์มงคล ที่นำเสนอแผนธุรกิจ “All” บัตรสมาชิกที่รวบรวมร้านค้าชื่อดังจากทั่วโลกในบัตรสมาชิกเพียงใบเดียว ใช้งานด้วยการค้นหาข้อมูลจาก web based platform และสามารถเช็คผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งสามารถเลือกหาสินค้า โปรโมชั่น และแบ่งปันรายการส่งเสริมการขายได้อย่างง่ายดาย