สวทช.ขยายเครือข่าย ITAP จับมือ ม.สงขลานครินทร์ ยกระดับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมภาคใต้ตอนล่าง

ข่าวเทคโนโลยี Friday June 10, 2005 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--สวทช.
สวทช.ขยายเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ITAP ครอบคลุม 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมพัฒนาเทคโนโลยียกระดับการผลิต และเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จากฐานความรู้ พร้อมเดินหน้าอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อีก 1 แห่ง
จากการที่รัฐบาลได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ ที่เน้นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ ดังนั้น ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP : Industrail Technology Assistance Program) ได้เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญในการยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในระดับภูมิภาค ด้วยรูปแบบในการให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือไปแล้ว 4 แห่งครอบคลุม 4 ภูมิภาค
ล่าสุด สวทช.ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งรวมเป็น 5 แห่ง โดยเมื่อวันพุธที่ 8 มิถุนายน 2548 ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งหน่วยงานเครือข่าย ITAP ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ขึ้น ระหว่าง รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และรศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นับเป็นเครือข่ายของโครงการ ITAP ในระดับภูมิภาคแห่งที่ 5 ซึ่งจะให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ / จังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง โดยจะมุ่งเน้นใน 4 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสนับสนุน ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน โดยผ่านการดำเนินงานของหน่วยงาน 2 แห่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออกภาคใต้ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพและความพร้อมในเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้บริการที่สอดคล้องต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในภูมิภาคได้เป็นอย่างดีต่อไป รวมถึงเชื่อมโยงอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีในพื้นที่ภาคใต้ ให้สามารถเข้าถึงบริการของ ITAP ได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับภาคเอกชน อีกทั้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างยังมีโรงงานอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้รับเกียรติจากทางสวทช.ให้เข้าร่วมในโครงการนี้ และยังได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ในภาคใต้ ซึ่งขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมพร้อมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะก้าวหน้าไปได้ด้วยดี และจะเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ เพราะความเข้มแข็งของเครือข่าย ITAP
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างทั้ง 7 จังหวัดที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ ประกอบด้วย สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล พัทลุง และตรัง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวที่มีความหลากหลายในด้านของอุตสาหกรรม วัฒนธรรม และการนับถือศาสนา จึงถือเป็นพื้นที่ที่มีความพิเศษแตกต่างจากภาคอื่นๆ จะช่วยให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุดมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจประเภทอาหาร, เกษตร, ประมง และเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนาสินค้า ระบบคุณภาพ และมาตรฐาน รวมถึงการปรับตัวของภาคธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดโลก เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ผอ.สวทช.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ITAP ได้ร่วมกับ เครือข่าย สวทช.ภาคเหนือ ดูแลอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือ, เครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดูแลพื้นที่ทางภาคใต้ตอนบน, เครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อดูแลพื้นที่ทางภาคตะวันตกทั้งหมด โดยจะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการ ITAP ได้ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนขีดความสามารถของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันได้ให้บริการแก่ภาคเอกชนไปแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสนับสนุนทางด้านการเงิน เช่น การให้เงินอุดหนุน และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับงานวิจัยและพัฒนา ด้านเทคนิค เช่น โครงการจัดหาที่ปรึกษาอุตสาหกรรม โครงการฝึกอบรมด้านมาตรฐาน การทดสอบและระบบคุณภาพ การเสาะหาเทคโนโลยีจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจับคู่ธุรกิจ เป็นต้น ที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ให้บริการแก่ภาคเอกชนไปแล้วมากกว่า 1,300 โครงการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP)
โทร. 0-2619-6187, 88--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ