ททท. ตั้งเป้าทัวริสต์ตามแผนตลาด ปี 48 เน้นภาพลักษณ์สงบสุข ปลอดภัย รื่นรมย์

ข่าวท่องเที่ยว Friday July 16, 2004 09:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--ททท.
ททท. จัดทำแผนการตลาดการท่องเที่ยว ปี 2548 ยึดวิสัยทัศน์ระยะยาวครอบคลุมทั้ง 3 ปี 2549-2551เพื่อพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มุ่งสู่มาตรฐานที่มีคุณภาพ การท่องเที่ยว ยั่งยืน และแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยจะก่อให้เกิดบรรยากาศและภาพลักษณ์ของประเทศตามแนวคิด "Happiness on Earth" ซึ่งสื่อถึงความสงบสุข ปลอดภัยและรื่นรมย์ คาดว่ายอดนักท่องเที่ยวเต็มที่ตามเป้ายุทธศาสตร์ 13.38 ล้านคน หากมีปัจจัยกระทบน่าจะอยู่ที่ 12.28 ล้านคน มีรายได้ 409,00 ล้านบาท ส่วนคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวน 76.25 ล้านคนครั้ง ก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียน 347,000 ล้านบาท
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงแผนตลาดการท่องเที่ยวประจำปี 2548 รับกับยุทธศาสตร์เป้าหมายเพื่อมุ่งดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า นำคุณค่า ความประทับใจเพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายและวันพักเฉลี่ย ซึ่งจะช่วยรักษาอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวให้เป็นไปตามแนวโน้มการเติบโตของโลกในอนาคต โดยที่นักท่องเที่ยวสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และวิกฤติต่างๆ ได้และฟื้นตัวได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังจะท่องเที่ยวบ่อยครั้งขึ้น แต่ใช้ระยะเวลาการท่องเที่ยวน้อยลง อีกทั้งนักท่องเที่ยวสนใจทำกิจกรรมมากกว่าตัวแหล่งท่องเที่ยว จึงทำให้การท่องเที่ยวตามความสนใจพิเศษทวีความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยเรื่องคุ้มค่าเงิน เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเดินทาง
สำหรับสถานการณ์ภาพรวมตลาดต่างประเทศในรอบปีที่ผ่านมา ไทยยังคงมีจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าจากทุกตลาด รวมถึง 10 ล้านคน โดยเฉพาะตลาดหลักเช่น เอเชีย มีจำนวนเกินเป้า สูงกว่าก่อนวิกฤติและหลังวิกฤติ เป็นเพราะสามารถเจาะกลุ่มความสนใจพิเศษได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ เช่นเดียวกับตลาดอินโดจีนมีการเติบโตที่ดี มีค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งตลาดตะวันออกกลาง เป็นตลาดที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นฐานใหญ่ และมีแนวโน้มในการเพิ่มเที่ยวบินมามากขึ้นทั้งนี้ในแผนการตลาดการท่องเที่ยวปี 2548 ททท. ได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานตามความเหมาะสมของแต่ละตลาด ด้วยการส่งเสริมตลาดในกลุ่มเป้าหมายคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูง จากทุกตลาดที่เป็นกลุ่มตลาดหลัก ตลาดรอง รวมทั้งตลาดขนาดเล็กที่มีสภาพเศรษฐกิจดีและมีอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยว เช่นเวียดนาม รัสเซีย ตะวันออกกลาง แคนาดา นิวซีแลนด์ ส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มการใช้จ่ายและวันพัก การโฆษณาและประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นแหล่ง ท่องเที่ยวคุณภาพและแหล่งท่องเที่ยวแห่งความสุข ด้วยการสร้างการรับรู้สินค้าทางการท่องเที่ยวของไทย และสร้างการรับรู้ประเทศไทยในด้านอื่นๆ พร้อมกับการเผยแพร่ภาพลักษณ์ด้านบวก การทำการตลาดเชิงรุกแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ ส่งเสริมตลาดที่มีการใช้จ่ายสูง ส่งเสริมให้เกิด การแข่งขันที่เป็นจุดขาย และส่งเสริมตลาดในช่วง Green Season เพิ่มความถี่ในการเดินทางมาท่องเที่ยวในตลาดระยะใกล้ โดยใช้กิจกรรมสุดสัปดาห์เป็นการจูงใจ สนับสนุนและเสริมสร้างสินค้าทางการท่องเที่ยวใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด การเสริมสร้างคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ข้อมูลการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร เสนอขายกิจกรรม World Events ให้เป็นสินค้าหลัก และส่งเสริมประเทศไทยเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย เน้นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะการท่องเที่ยวเชื่อมโยง (Combine Destination)
ส่วนสถานการณ์ภาพรวมตลาดในประเทศของนักท่องเที่ยวคนไทย นับจากปี 2538 จากจำนวน 52.26 ล้านคนครั้ง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการรณรงค์โครงการต่างๆ ของ ททท. เช่น โครงการไทยเที่ยวไทย ในปี 2544 โครงการเที่ยวทั่วไทยไปได้ทุกเดือน ในปี 2545 และโครงการอันซีนไทยแลนด์ ในปี 2546 ที่ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว ถึง 69.36 ล้านคนครั้ง นับว่ามีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือของผู้ประกอบการที่ปรับเปลี่ยนทิศทางมาทำการตลาดในประเทศ อันเนื่องมาจากวิกฤติซาร์ส และไข้หวัดนก ส่งผลให้เกิดกระแสการเดินทางมากขึ้น มีภาพลักษณ์การเดินทางภายในประเทศดีขึ้น และการเปิดสายการบินต้นทุนต่ำ ล้วนเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเดินทางภายในประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
โดยแผนงานตลาดในประเทศ ในปี 2548 จะออกแคมเปญ "ที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรา" เป็นการกระตุ้นตลาดในประเทศ ตอกย้ำความรักชาติ ความภาคภูมิใจ และแสดงให้เห็นว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้ความสุขสบายมากกว่าการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ ททท. ที่จะส่งเสริมให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ในทุกกลุ่มเป้าหมายให้มีจำนวนมากขึ้นรวมทั้งการส่งเสริมตลาดที่มีลักษณะเฉพาะกลุ่มความสนใจพิเศษ เป็นการเพิ่มความถี่ เพิ่มวันพัก และเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ย กระจายนักท่องเที่ยวสู่แหล่งท่องเที่ยวใหม่ ในลักษณะการเดินทางข้ามภูมิภาค การท่องเที่ยวภายในกลุ่มจังหวัดคลัสเตอร์ การท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองชายแดน ตลอดจนส่งเสริมตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ 3 จังหวัดในชายแดนภาคใต้ เป็นกรณีพิเศษ อันจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ ไปยังภูมิภาคอย่างทั่วถึง รวมทั้งกระจายฤดูกาลท่องเที่ยวตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทย ในแง่การท่องเที่ยวเพื่อการศึกษาเรียนรู้ และส่งเสริมการออมเพื่อการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ททท. ได้กำหนดสินค้าทางการท่องเที่ยวที่จะเสนอขายโดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องการรณรงค์ให้เกิดการตระหนักในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่า รักษาสิ่งแวดล้อม โดยประเภทของสินค้าทางการท่องเที่ยวที่พร้อมเสนอขาย นอกจากกลุ่มสินค้าทั่วไปที่อยู่ในความสนใจของตลาดแล้ว ยังได้เสนอขายเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เส้นทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาค ผนวกเส้นทางท่องเที่ยวหมู่บ้านโอทอป และกิจกรรมความสนใจพิเศษ รวมสินค้าทางการท่องเที่ยวกว่า 300 รายการ ที่จะใช้เป็นข้อมูลต่อผู้ประกอบการได้นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการขายได้ต่อไป ทั้งยังเป็นการสร้างความร่วมมือของทุกๆ ส่วน ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อความเป็นเอกภาพ และนำมาซึ่งความสำเร็จในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย แหล่งข่าว กองประชาสัมพันธ์ในประเทศ ททท. โทร 0-2250-5500 ต่อ 1555 - 1563 โทรสาร 0-2250-5681--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ