ฟิทช์คงอันดับเครดิต บมจ. ไออาร์พีซีที่ ‘A- (tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 19, 2012 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ที่ระดับ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทที่ระดับ ‘A-(tha)’ อันดับเครดิตของบริษัทฯ มีปัจจัยสนับสนุนจากความได้เปรียบในการแข่งขันเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและชื่อเสียงของบริษัทฯ ในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายอันยาวนานในประเทศไทย การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ครบวงจรดังกล่าวได้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยลดความผันผวนของรายได้เมื่อเทียบกับผู้ผลิตที่มีการผลิตไม่ครบวงจร นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทฯ มีแผนการเพิ่มการผลิตในแผนการลงทุนในปัจจุบัน ยังจะช่วยลดความเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภทสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) อีกด้วย ฟิทช์ยังคงอันดับเครดิตของ IRPC แม้ว่าฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ IRPC น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในช่วงปี 2555 ถึง 2557 ซึ่งต่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมว่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินในระดับดังกล่าว ทำให้ IRPC มีความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินเพื่อที่จะยังคงรักษาอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวให้สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของ IRPC ที่ ‘A-(tha)’ อยู่ในระดับที่จำกัดมาก ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Adjusted net debt to EBITDAR) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 เท่าในปี 2555 (จาก 2.8 เท่าในปี 2554) และจะคงอยู่ในช่วง 3.0 เท่าถึง 3.25 เท่าในปี 2556 ถึง 2557 การปรับการคาดการณ์สืบเนื่องจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในปี 2555 มีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับระดับค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของบริษัทที่สูงขึ้น ฟิทช์คาดว่าธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในช่วงที่เหลือของปี 2555 จะถูกกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัว ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2555 ในขณะที่ค่าการกลั่นน่าจะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับระดับที่ค่อนข้างสูงในปี 2554 ฟิทช์คาดว่าธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวในปี 2556 แต่ทั้งนี้ ยังคงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจีนและประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน IRPC ได้ปรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น โดยมีแผนที่จะใช้เงินลงทุน 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2555 — 2559 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ รวมถึงการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการลงทุนดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงของการใช้จ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่า IRPC น่าจะมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งในด้านระยะเวลาในการใช้จ่ายลงทุน บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนการดำเนินงานจากการร่วมดำเนินการกับบริษัทในกลุ่ม บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่ง ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ (ถือหุ้นอยู่ประมาณร้อยละ 39) โดยเฉพาะในด้านการจัดหาวัตถุดิบและการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามการพึ่งพากันในการดำเนินธุรกิจและการเชื่อมต่อของการผลิตระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการผลิตของ IRPC ค่อนข้างจะเป็นอิสระและมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรอยู่แล้ว ดังนั้นอันดับเครดิตของ IRPC จึงไม่ได้มีการเพิ่มจากการที่ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความเสี่ยงที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลก ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแผนการลงทุนที่สูงและการพึ่งพิงการส่งออกในธุรกิจปิโตรเคมีเนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตโพลีเมอร์ที่เกินความต้องการใช้ภายในประเทศ (ในปี 2554 ประเทศไทยส่งออกโพลีเมอร์ประมาณร้อยละ 58 ของโพลีเมอร์ที่ผลิตได้) นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเผชิญกับความเสี่ยงในเรื่องวัตถุดิบสำหรับธุรกิจโรงกลั่น เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: - การรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง - การเพิ่มระดับความเชื่อมโยงทางด้านการดำเนินงานระหว่าง IRPC กับ ปตท. และการเพิ่มความสำคัญของ IRPC ในเชิงกลยุทธ์ที่มีต่อปตท. ปัจจัยลบ: - อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าที่สูงกว่า 3.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำ หรือการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ