กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--กทม.
ผู้ว่าฯกทม. ขอให้สมาชิกสภากทม.ทุกคนประนีประนอมกัน เพื่อหาข้อยุติกรณีผลการเลือกตั้งประธานสภา กทม.คนใหม่ ชี้ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นตกอยู่ที่ประชาชนเพียงฝ่ายเดียว
เมื่อวันที่ (14 ก.ค.47) เวลา 11.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในการแถลงข่าวเรื่องการพิจารณางบประมาณประจำปี 2548 กรณีสภากรุงเทพมหานครไม่สามารถประชุมพิจารณางบประมาณได้ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานสภากทม. เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.47 ตนในฐานะฝ่ายบริหารไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใด ๆ เนื่องจากเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้ในวันดังกล่าวตนไม่ได้เข้าไปร่วมประชุมเนื่องจากติด ภารกิจสำคัญแต่ได้มอบหมายให้ นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเข้าร่วมการประชุมแทน และเมื่อเกิดเหตุขึ้นมานั้น สำนักงานเลขานุการสภากทม.ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กทม.ก็ได้รายงานรายละเอียดต่าง ๆ ให้ตนได้ทราบแล้ว อย่างไรก็ตามตนเห็นว่ายังไม่ควรออกมาแถลงใด ๆ ทั้งสิ้นเนื่องจากเป็นเรื่องความขัดแย้งกันในการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
สำหรับสภากทม.นั้น ประกอบด้วยสมาชิกสภากทม.ทั้งหมด 61 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสมาชิกที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ 28 คน และสมาชิกจากพรรคไทยรักไทย 25 คนพร้อมพันธมิตรอีก 2 พรรค คือ ชาติไทยและชาติพัฒนา อีก 3 คนรวมเป็น 28 คนเท่ากัน ส่วนที่เหลืออีก 5 คน สังกัดอิสระ ในการประชุมเลือกตั้งประธานสภากทม.วันดังกล่าวจำเป็นต้องมีประธานสภาชั่วคราวโดยเป็นผู้ที่มีอาวุโสมากที่สุดคือ คุณผุสดี วงศ์กำแหง ซึ่งถ้าคะแนนจะออกมาเป็น 30 ต่อ 30 ประธานสภามีสิทธิที่จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าผลจะเป็นเช่นไร แต่สมาชิกสภากทม.จากพรรคไทยรักไทยแจ้งว่าคะแนนเสียงของฝ่ายตนมี 30 เสียงแต่เจ้าหน้าที่นับได้แค่เพียง 29 เสียง
ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สภากทม.ก็แจ้งว่านับคะแนนเสียงจากพรรคไทยรักไทยได้ 29 เสียง นับจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ 30 เสียง และสมาชิกจากพรรคไทยรักไทยยังกล่าวอีกว่าได้ทำการประท้วงแล้วแต่ประธานบอกว่าไม่เห็นผู้ยกมือประท้วง ซึ่งตนเห็นว่าอาจเป็นไปได้เนื่องจากห้องประชุมสภามีลักษณะกว้างมากโดยมีความกว้างถึง 28 เมตร ถ้ามีการประท้วงทั้งด้านซ้ายละด้านขวาพร้อมกัน ประธานก็อาจมองไม่เห็น
ผู้ว่าราชการกรงเทพมหานครยังได้ให้ข้อสังเกตว่าการที่สมาชิกฝ่ายหนึ่งมาลงชื่อประชุม และสมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งไม่มาลงชื่อร่วมประชุม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการประชุมได้เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุมนั้น จะต้องมีการตีความว่าผู้ไม่มาลงชื่อร่วมประชุมถือเป็นการขาดการประชุมหรือไม่ ซึ่งการขาดประชุม 4 ครั้งติดต่อกัน ตลอดการประชุม 1 สมัยคือ 30 วันนั้น ถือว่าเป็นการเสียสิทธิการเป็นสมาชิกสภากทม. สำหรับเรื่องการพิจารณางบประมาณประจำปี 2548 ถ้าภายในวันที่ 1 ต.ค.47 ไม่สามารถทำการประชุมเพื่อหา ข้อสรุปสำหรับงบประมาณได้ ตนคิดว่าไม่มีปัญหาเพราะกฎหมายระบุว่าสามารถใช้ข้อบัญญัติงบประมาณเดิมของปีที่ผ่านมาได้ ซึ่งถ้าต้องเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เงินที่จะได้จากการแปรญัตติของสมาชิกสภากทม.ในการนำไปพัฒนาในพื้นที่ของตนเองก็จะไม่มี ประชาชน ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ และในส่วนแนวทางการปฏิบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความนั้นเป็นไปด้วยความรอบคอบดีแล้ว
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในที่สุดว่า ตนมิอาจให้ความเห็นมากกว่านี้ เนื่องจากอาจมีผู้คิดว่าไม่เป็นกลาง จึงอยาก ขอให้สมาชิกทุกท่านมาร่วมประชุมพร้อมกัน และหาวิธีการประนีประนอมที่ดีที่สุด ในส่วนของตำแหน่งประธานสภากทม. มิได้มีสิทธิพิเศษ แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องทำหน้าที่เพิ่มเติมในการดำเนินการประชุมสภา และถือเป็นเกียรติเท่านั้น
อนึ่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 103 บัญญัติว่างบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานครให้ทำเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้เสนอ ถ้าข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณที่แล้วนั้นไปพลางก่อน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--