กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 5/ 2555 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2555 กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม จากเดิมที่ได้ออกประกาศไปแล้วเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ออกเพิ่มเติมนี้ จะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านการเงินของประเทศ ช่วยลดต้นทุนในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเพื่อประโยชน์ในการเข้าไปกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
และที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐเพิ่มเติมอีก 2 หน่วยงาน คือ กรมการค้าภายใน และการเคหะแห่งชาติ ทำให้ขณะนี้มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของหน่วยงานภาครัฐที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 37 หน่วยงาน
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้มีการหารือแนวทางการรักษาความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนกันมากขึ้น ซึ่งการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวนี้ บางส่วนจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลด้วย โดยข้อมูลส่วนบุคคลจะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ และยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการเฉพาะมาใช้บังคับ จึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบายกฎหมายไปพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงาน ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกเหนือจากการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว หน่วยงานภาครัฐยังมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน อันเป็นการอำนวยความสะดวก ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการให้บริการ ซึ่งเว็บไซต์เหล่านั้นจะต้องมีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น คณะกรรมการฯ จึงมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ หากพบว่ามีช่องโหว่ ก็จะมีหนังสือแจ้งให้หน่วยงานเหล่านั้นทราบ เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือปิดให้บริการทันที
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ เช่น การออกประกาศภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยวิธีการแบบปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2553 การจัดทำแผนแม่บทธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย และมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วอีกด้วย