กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2555 มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นประมาณ 36.6 ล้านบาท หรือ 7.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหากหักกำไรจากรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในงวดครึ่งปี 2554 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายการพิเศษที่เป็นค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นเพิ่มเติมในงวดครึ่งปี 2555 ธนาคารและบริษัทย่อยจึงมีกำไรสุทธิจำนวน 372.8 ล้านบาท ลดลง 163.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.5 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2554
ทั้งนี้ การที่ธนาคารมีกำไรสุทธิลดลงดังกล่าว สาเหตุหลักจาก ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆ เพิ่มขึ้น 322.0 ล้านบาทและค่าเผื่อสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 85.3 ล้านบาท ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 187.5 ล้านบาท โดยรายการพิเศษหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปี 2555 คือ ค่าใช้จ่ายเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ซึ่งประกาศในเดือนพฤษภาคมปี 2555 และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแพ้คดีซึ่งต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งหนึ่งเป็นจำนวน 206 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินที่ได้ปิดกิจการไปแล้วก่อนการควบรวมกิจการกับธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ก่อนการเปลี่ยนแปลงเป็นธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้ธนาคารได้มีการตั้งบัญชีสำรองค่าเสียหายสำหรับเงินต้น จำนวน 70 ล้านบาทไว้แล้วแต่ก็ยังคงต้องชำระค่าดอกเบี้ยจำนวน 136 ล้านบาทตามคำสั่งศาล แม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารจะชนะคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้วก็ตาม ซึ่งธนาคารเคารพต่อคำตัดสินของศาลฎีกาและได้ดำเนินการชำระเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ ธนาคารกำลังดำเนินการสอบทานในกรณีอื่น ๆ ซึ่ง ณ ขณะนี้ เชื่อว่าไม่มีกรณีคล้ายคลึงกัน
ขณะที่รายการพิเศษในงวดครึ่งปี 2554 ประกอบด้วยกำไรจากการขายบริษัทบีทีประกันภัยและสำนักงานที่อาคารเสริมมิตรและการปรับอัตราคำนวณการลดมูลค่าของทรัพย์สินรอการขาย
เมื่อเปรียบเทียบผลดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อยงวดครึ่งปีสิ้นสุดมิถุนายน 2555 รายได้จากการดำเนินงาน มีจำนวน 3,215.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 186.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 จากจำนวน 3,028.5 ล้านบาท (แต่หากหักรายได้พิเศษในปี 2554 แล้ว รายได้จากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้น 372.7 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.0) โดยในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้นเพิ่มขึ้น 187.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายสินเชื่อร้อยละ 21.46 ในส่วนของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยทั้งหมดลดลงประมาณ 1 ล้านบาท เนื่องจากกำไรจากการลงทุนและรายได้อื่นๆ ลดลง 88.6 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากกำไรพิเศษในปี 2554 ในขณะที่ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 9.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 และกำไรจากการปริวรรตเพิ่มขึ้น 78 ล้านบาท
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin — NIM) ปรับลดลงจากงวดครึ่งปี 2554 ที่ ร้อยละ 3.59 เป็น ร้อยละ 3.24 ในงวดครึ่งปี 2555 เนื่องจากการนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมปี 2555 แต่มีผลย้อนหลังไปถึงเดือนมกราคมปี 2555 หากธนาคารไม่นับรวมเงินสมทบที่เพิ่มขึ้นในปี 2555 เพื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ยของงวดครึ่งปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.33 นอกจากนี้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ยลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากและตั๋วแลกเงินที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเป็นผลจากภาวะแข่งขันด้านเงินฝากอย่างรุนแรงในตลาด
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ 123.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย
ด้านเงินฝากและตั๋วแลกเงินจำนวน 135.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากสิ้นปี 2554 ซึ่งมีจำนวน 134.4 พันล้านบาท จากการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝากข้างต้น ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของกลุ่มธนาคาร อยู่ที่ร้อยละ 91.0 ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินเฉพาะธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 89.6 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 ธนาคารมีตั๋วแลกเงินจำนวน 21.3 พันล้านบาท ลดลง 35.1% หรือ 11.5 พันล้านบาท จากตั๋วแลกเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 จำนวน 32.8 พันล้านบาท
ในงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนาย น 2555 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยมีสาเหตุหลักจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในลูกค้าเฉพาะกลุ่มโดยส่วนหนึ่งมีผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ธนาคารได้ดำเนินการแก้ไขลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิดโดยเริ่มมียอดลดลงในจำนวนพอสมควรในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 75.2 ลดลงจากสิ้นปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 81.7 เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นในงวดครึ่งปีแรก 2555 ในการพิจารณาตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้นั้น กลุ่มธนาคารได้มีการนำมูลค่าทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นหลักประกันมาพิจารณาด้วยและกลุ่มธนาคารได้มีการติดตามสถานะของลูกหนี้รายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ณ.วันที่ 30 มิถุนายน 2555 เงินสำรองของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่จำนวน 3.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1 พันล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 2555 หากหักรายการพิเศษดังกล่าวที่เกิดขึ้นในงวดครึ่งปี 2554 และ 2555 ธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 อย่างไรก็ตาม เมื่อนับรวมรายการพิเศษ ธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2554 จำนวน 322.0 ล้านบาทหรือร้อยละ 14.0 โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแพ้คดีดังกล่าว สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก 2555 อยู่ที่ร้อยละ 81.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 76.1
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2555 มีจำนวน 18.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 12.55 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 8.03