สภาที่ปรึกษาฯ หามาตรการฝ่าวิกฤติ EU หวั่นกระทบภาคส่งออกของไทย

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2012 16:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--สป. นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นำทัพสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมหาทางออกประเทศไทยจากวิกฤติ EU ด้านรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เผย 11 มาตรการลดผลกระทบเบื้องต้น เตรียมผลักดันเป็นความเห็นเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป เมื่อวันที่ 19 ก.ค.55 คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง สภาที่ปรึกษาฯ นำโดยนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานฯ จัดการสัมมนาเรื่อง “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ EU ผลกระทบภาคส่งออกของไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น รวมถึงหาแนวทางในการลดผลกระทบจากวิกฤติ เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปต่อประเทศไทย ณ ห้องประชุมสำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายอุทัยฯ กล่าวว่า ปัญหาของ EU มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทย คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคฯ สภาที่ปรึกษาฯ ในฐานะที่มีบทบาทตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงจัดสัมมนาเรื่องดังกล่าวขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการช่วยเสนอข้อมูล ความคิดเห็น เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติ EU ที่จะเกิดกับประเทศไทย ส่วนความเห็นที่ได้จากการสัมมนา จะนำมาประมวลเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป เปิดประเด็นโดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ชี้ว่า วิกฤติ EU ทุกวันนี้มาจากการขาดเอกภาพของยูโรโซน ทั้งทางด้านความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ความหลากหลายทางการเมือง ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างยุโรปเหนือ ยุโรปตะวันตก และยุโรปใต้เอง ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ทั้งผลกระทบด้านการแกว่งไกวของตลาดเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ด้านการนำเข้าส่งออก และด้านการท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบทางอ้อม ถ้าหากประเทศในแถบเอเชีย อย่างเช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย เป็นต้น ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ EU ก็อาจทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ด้าน ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร CIMB THAI จำกัด มหาชน มองวิกฤติดังกล่าวว่าเหมือนรถที่กำลังพุ่งเหว ซึ่งไม่สามารถหยุดได้ ทำได้เพียงชะลอให้ช้าลงเท่านั้น ตนเห็นว่าประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูงหลังจากเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ.2540 และวิกฤติจากสหภาพยุโรปจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเพียงแค่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศหดตัวหรือโตช้าเท่านั้น ไม่ทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการเงินตามไปด้วยอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าในช่วงนี้ประเทศไทยควรเร่งเปิดเสรีทางการค้าและธุรกิจการบริการให้มากขึ้น นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ เผยข้อเสนอแนะและมาตรการเบื้องต้นสำหรับผลกระทบภาคส่งออกต่อวิกฤติเศรษฐกิจสหภาพยุโรปถดถอย จากการระดมความคิดเห็นของผู้ส่งออกและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1. ปัญหาเฉพาะหน้าดูแลสภาพคล่องของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะ SMEs โดยให้ธนาคารของรัฐเข้ามาปล่อยสินเชื่อแบบผ่อนปรน 2. ดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนและสนับสนุนให้ใช้เงินสกุลต่างประเทศในการชำระค่าระวางเรือ (Freight) และร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 3.0 หรือต่ำกว่านี้ไปจนถึงสิ้นปี 3. ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า-ส่งออก แก้ไข ปรับปรุงกฎเกณฑ์ ข้อบังคับในการลดขั้นตอน เพื่อให้การนำเข้า-ส่งออกมีความสะดวก รวดเร็ว 4. ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาในการคืนภาษีให้รวดเร็ว โดยเฉพาะการข้อคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5. ส่งเสริมการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้มีระบบสินเชื่อให้กับคู่ค้า เพื่อให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออก รวมทั้งสนับสนุนและแก้ไขอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกให้สินค้าเข้า-ออกชายแดน 6. การส่งเสริมการส่งออกทดแทนตลาดหลัก ให้รัฐบาลมีการทำเป็นแบบบูรณาการและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการจัดโครงการส่งเสริมสินค้าไทย โดยให้ SMEs และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ด้อยโอกาสสามารถเข้าร่วมได้โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด 7.ส่งเสริมให้มีการจัดหาวัตถุดิบซึ่งขาดแคลนเพื่อผลิตและส่งออกในปริมาณที่เพียงพอและมีแหล่งให้เลือกในการแข่งขันด้านราคา 8. รัฐบาลควรเร่งเจรจาเพื่อขอคืน GRP กลับคืนมา เนื่องจากสินค้าไทยหลายรายการถูกประเทศคู่ค้าตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนำเข้า ส่งผลให้สินค้าไทยมีราคานำเข้าสูงกว่าประเทศคู่แข่ง 9. ให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน 10. ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศให้มีความชัดเจน 11. รัฐบาลควรมีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเป้าหมายการส่งออกสามารถปรับเปลี่ยนได้ หากมีปัจจัยภายนอกหรือภายในเข้ามากระทบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ