กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--TK park
“การอ่าน” เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจ จึงไม่แปลกที่ “การอ่าน” จะกลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนมีความใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558
การประชุมวิชาการ TK Conference on Reading 2012 โดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นอีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้า นับเป็นโจทย์สำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมประชาชนเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
“ปัจจุบัน คนไทยยังไม่พร้อมในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐกิจ,สังคม และวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของภูมิภาค จึงอยากแนะนำให้เด็กไทย และประชาชนเริ่มศึกษาข้อมูลพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้านกันให้มากขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มทักษะด้านภาษา เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทยในเวทีโลก”
ดร.ทัศนัย กล่าวยอมรับว่า แม้แต่สำนักพิมพ์ในประเทศ ยังเพิ่งเริ่มตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าว หรือในเรื่องของภาษา เช่น ในภาษาเขมรนั้นทราบหรือไม่ว่ามีคำทักทายกันอย่างไรบ้าง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านกลับรู้จักเรามากกว่า ประกอบกับการศึกษาของ TK park เรื่องสถานการณ์การอ่านหรือดัชนีการอ่านของไทย พบว่า เด็กไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย 2 ชม./วัน เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์การอ่านในกลุ่มอาเซียน ซึ่งนับว่ายังน้อยเกินไป แต่มีความเชื่อมั่นว่า เด็กไทยจะหันมาอ่านหนังสือกันเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีการรณรงค์และการส่งเสริมการอ่านหนังสือให้กระจายออกไปสู่ชนบทและท้องถิ่นห่างไกลมากขึ้น
ดังนั้น “การอ่าน” จึงนับเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องของการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจกันระหว่างประชาชนในอาเซียน แต่ขณะเดียวกันการจัดการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจในการเรียนรู้ของเด็ก นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทักษะด้านการอ่านของเด็กไทย
ด้านมุมมองของดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน(สสค.) กล่าวถึงระบบการศึกษาของไทยในระหว่างการบรรยายพิเศษเรื่อง “ห้องเรียนอนาคตแห่งศตวรรษที่ 21” ว่า ระบบการศึกษาไทยควรมีการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กคิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยครูผู้สอนเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างสภาพแวดล้อม และเป็นผู้นำด้านสื่อเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม ที่จะทำให้เด็กไทยก้าวทันยุคสมัย รวมถึงการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย
แต่มองว่าอุปสรรคการเรียนการสอนในปัจจุบัน คือ เป็นเรื่องของระบบ และนโยบายด้านการศึกษาของไทยที่ปัจจุบันห้องเรียนในโรงเรียนของไทยยังไม่มีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงมากนัก เพราะอาจมุ่งหวังเรื่องของการวัดผลทางการศึกษามากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาที่มักพบอยู่ตลอดเวลาคือ การใช้เวลาของครูไปกับการทำตัวชี้วัดผลทางการศึกษาและการวัดผลทางการศึกษามากเกินไป ทำให้ครูไม่มีเวลาให้กับกับการสอนเท่าที่ควร
ดร.อมรวิชช์ ยังมีแนวคิดสำหรับ “ห้องเรียนอนาคตแห่งศตวรรษที่ 21” ว่า การสร้างห้องเรียนโฉมใหม่ จะต้องไร้กำแพง มีการเชื่อมกับครอบครัว เชื่อมกับชุมชน เชื่อมกับชีวิตความเป็นจริงในสังคม เป็นห้องเรียนที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้เด็กออกไปเรียนรู้และหาคำตอบด้วยตัวเอง ทำให้เด็กมีทักษะทางความคิดอย่างมีเหตุผลมาสนับสนุน พร้อมแนะว่าห้องสมุดที่ดีจะเป็นจุดเริ่มการอ่านหนังสือให้กับเด็ก
ขณะที่นายโสทิค ฮก ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชน SIPAR ประจำประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้น เพื่อมุ่งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และชาวกัมพูชารักการอ่านหนังสือ รวมทั้งส่งเสริมให้บริการด้านการศึกษา กล่าวถึงการพัฒนาการอ่านว่า เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาขั้นพื้นฐานในระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นที่หลายฝ่ายต้องให้ความสำคัญ เพราะการอ่านนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาสังคมของผู้อ่าน ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาการขาดแคลนหนังสือโดยเฉพาะภาษาเขมร เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาขาดทักษะการอ่าน เบื้องต้นจึงต้องมีการนำเข้าหนังสือและแปลหนังสือตีพิมพ์เป็นภาษาเขมร เพื่อส่งเสริมการอ่านในเด็กและประชาชน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและเอ็นจีโอที่ต้องสนับสนุนการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่
ชูครีอะห์ บินติ ฮัจจิ ยอน ผู้อำนวยการห้องสมุดประชาชนปีนัง วิทยากรจากประเทศมาเลเซีย ได้กล่าวถึงโครงการหนังสือเล่มแรกสำหรับเด็กทารกทุกคน” โดยยกตัวอย่าง การใช้หนังสือผ้าสร้างนิสัยในการอ่านตั้งแต่วัยเด็กตอนต้นว่า เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในปีนัง ซึ่งโครงการนี้เป็นการเน้นการใช้หนังสือที่ทำจากผ้าที่ปลอดสารพิษ และมีสีสันดึงดูดความสนใจ เนื้อหาของหนังสือเป็นเรื่องราวในท้องถิ่นที่เขียนขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของห้องสมุด และได้รับการจัดพิมพ์ในท้องถิ่น ซึ่งจากรายงานยังแสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้สัมผัสกับหนังสือตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารกนั้น มีแนวโน้มที่จะรักหนังสือและรักการอ่าน
นอกจากนี้ วิทยากรจากประเทศฟิลิปปินส์ ,เกาหลีใต้ และ สิงคโปร์ มีความเห็นตรงกันในการส่งเสริมการอ่านว่า ควรเริ่มต้นพัฒนาที่ห้องสมุดและบรรณารักษ์ ควรมีการปรับปรุงการค้นหาให้รวดเร็ว และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มารองรับ และการบูรณาการทั้งภาครัฐ ชุมชน และครอบครัว ร่วมกันส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ผลการประชุมครั้งนี้ เป็นการขับเคลื่อนความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเริ่มต้นที่เยาวชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญให้เยาวชนแต่ละประเทศรู้จักประเทศของตนเอง และนำไปสู่ความเข้าใจถึงอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน