เตือนภัยโรคใบขาวอ้อย

ข่าวทั่วไป Tuesday July 24, 2012 09:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เตือนภัยโรคใบขาวอ้อยซึ่งเป็นโรคที่สำคัญอันดับหนึ่งของอ้อยเนื่องจากระบาดทำความเสียหายมาก และเป็นปัญหาของชาวไร่อ้อยในเกือบทุกแหล่งปลูกอ้อยที่เป็นโรครุนแรง ผลผลิตของอ้อยลดลงมากกว่า ร้อยละ 50 ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า โรคใบขาวอ้อย สาเหตุของโรคเกิดจาก เชื้อไฟโตพลาสมา (Phytoplasma) ลักษณะอาการโรคใบขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโตของอ้อย โดยอาการจะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้า อ้อยแตกกอฝอยมีหน่อเล็ก ๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งต่ายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็ก ๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง พบเสมอในอ้อยปลูกปีแรก โดยอ้อยเป็นโรคเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็ก ๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฎให้ห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา การแพร่ระบาด โรคใบขาวของอ้อยแพร่ระบาดโดยมีเชื้อติดไปกับท่อนพันธุ์อ้อย นอกจากนั้นยังมีเพลี้ยจักจั่นสีน้ำตาล เป็นแมลงพาหะ ถ่ายทอดเชื้อจากกออ้อยที่เป็นโรคไปยังกออ้อยปกติในไร่ พบจำนวนมากในช่วงฤดูฝน เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่าการป้องกันกำจัด ก่อนการเก็บเกี่ยวการดำเนินการในไร่ตรวจแปลงอ้อยสม่ำเสมอ ในแปลงที่เริ่มพบกอเป็นโรคให้รีบขุดทิ้งทำลาย หรือพ่นกอเป็นโรคด้วยสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเสท 1% ใช้พันธุ์อ้อยที่ทนทานต่อโรค เช่น ฟิลล์ 58-260, 85-118, 85-105, 87-2-113 นอกจากนี้เกษตรกรควรจัดทำแปลงพันธุ์อ้อย เพื่อขยายปลูกในปีต่อไป การเตรียมแปลงปลูกพันธุ์ควรใช้ท่อนพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปลอดโรค แช่ท่อนพันธุ์ในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส 2-3 ชั่วโมงก่อนปลูก แปลงพันธุ์ควรอยู่ห่างจากพื้นที่โรคระบาดและมีการตรวจโรคในแปลงสม่ำเสมอ หลังการเก็บเกี่ยว ไถทำลายแปลงอ้อยตอที่เป็นโรครุนแรงทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งระบาดของเชื้อคราดตอเก่าออกให้หมด ปลูกพืชบำรุงดินหมุนเวียน และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนปลูกอ้อยใหม่เลือกฤดูปลูกให้เหมาะสม (ตุลาคม-ธันวาคม) เพื่อลดการติดเชื้อจากแมลงพาหะที่ระบาดในฤดูฝน ใช้ท่อนพันธุ์สำหรับปลูกที่สมบูรณ์ ปลอดโรค จากแปลงพันธุ์ที่เตรียมไว้ข้างต้น และหากจำเป็นต้องซื้อพันธุ์ ควรคัดเลือกท่อนพันธุ์จากพื้นที่ที่ไม่มีโรค และตรวจอ้อยพันธุ์ที่จะซื้อตั้งแต่อ้อยยังยืนต้นอยู่ในไร่ว่าปราศจากอาการของโรคใบขาวจริง เกษตรกรที่มีปัญหาการปลูกอ้อยติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน หรือขอคำปรึกษาและแก้ปัญหาการเกษตร โดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ