สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดสัมมนา "ตำรวจพระ" เพื่อหาทางป้องกันพระแตกแถว

ข่าวทั่วไป Wednesday July 13, 2005 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจัดสัมมนา "พระวินยาธิการ" หรือ "ตำรวจพระ" หาทางป้องกัน พระแตกแถว พร้อมเตรียมสร้างฐานข้อมูลเชื่อมโยงข้อมูลป้องกันคนผิดหนีไปบวชซ้ำจังหวัดอื่น ณ วัดยาง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๑๑ ถึงวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ มีผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ พระวินยาธิการ จำนวน ๒๐๐ รูป และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหรือที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการคุ้มครอง พระพุทธศาสนา จำนวน ๑๐๐ คน นอกจากนี้มีการบรรยายเรื่องต่างๆ อาทิ การข่าว การติดตามข่าว การสืบสวนสอบสวน โดยผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
นายแพทย์ จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดประชุมสัมมนาพระวินยาธิการและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เป็นครั้งแรก พระวินยาธิการมีหน้าที่ช่วยพระสังฆาธิการหรือพระปกครองในการดูแลให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และกฎระเบียบหรือมติของมหาเถรสมาคม ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า "ตำรวจพระ" ซึ่งเมื่อพบพระที่มีพรรษาน้อย ๆ หรือพระบวชใหม่ที่ประพฤติไม่เหมาะสม พระวินยาธิการจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด และเมื่อมีการกระทำผิดแล้วจะดำเนินการทางพระธรรมวินัยต่อไป สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เป็นห่วงว่าเมื่อพระวินยาธิการมีหน้าที่ดูแลพระอื่นๆ แล้วใครจะดูแลพระวินยาธิการอีกทีหนึ่ง เพื่อไม่ให้มีการประพฤติ นอกลู่นอกทาง ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้จะกำหนดมาตรการดูแลปัญหานี้ด้วย เช่น ให้พระวินยาธิการมีวาระ ๒ ปี และเป็นต่อเนื่องได้ ๑ ครั้ง แล้วไม่ให้เป็นอีก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือเมื่อจับพระหรือผู้ปลอมเป็นพระที่กระทำความผิดและให้ลาสิกขาหรือสละสมณเพศ แต่พบว่าวันรุ่งขึ้นบุคคลนั้นเข้าไปขอบวชที่วัดอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งพระที่วัดนั้นไม่ทราบว่าเป็นผู้เคยกระทำความผิดก็ให้บวชอีก ดังนั้น ในการสัมมนาจะมีการสรุปหาแนวทางพัฒนาระบบสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำผิดลักษณะนี้ด้วย
พระเทพเมธี เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ขณะนี้มีผู้เห็นช่องทางความศรัทธา ของประชาชนปลอมตัวเป็นพระเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร มาหารายได้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ มีการร่วมมือ กับแม่ค้านำกับข้าวที่จำหน่ายให้ประชาชนใส่บาตร กลับไปเวียนเทียนให้แม่ค้าจำหน่ายซ้ำ หรือบางราย แม่ค้าเช่าบ้านให้อยู่ ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือเรี่ยไรเงิน ออกบิณฑบาตไม่รับข้าว รับแต่เงิน ไม่สนใจดอกไม้ธูปเทียนการกระทำดังกล่าวทำให้ความศรัทธาของญาติโยมย่อหย่อนลงไป
พระวินยาธิการจึงต้องทำงานอย่างหนักตลอด ๒๔ ชั่วโมง ในการสอดส่องดูแลพระปลอมและ พระจริงที่ประพฤติไม่ถูกต้อง ด้วยความอดทน เสียสละ และกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ตนเคยเป็น พระวินยาธิการมาก่อน เมื่อได้รับแจ้งกลางดึกก็ต้องออกไปดู แต่ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ทำงานนี้
พระครูศรีรัตนคุณ หัวหน้าพระวินยาธิการกรุงเทพมหานคร เจ้าคณะเขตบางซื่อ และเจ้าอาวาส วัดแก้วฟ้าจุฬามณี เปิดเผยว่า ปัญหาที่พบเป็นประจำคือเรื่องการออกรับบิณฑบาตจากญาติโยมในลักษณะ ที่ผิดธรรมวินัย การเข้ามาปักกลดตามย่านชุมชน พักแรมตามบ้านเรือนและออกเรี่ยไร ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ไม่ใช่พระจริง ส่วนการลงโทษนั้นจะมี ๓ ระยะ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ และให้สึกและสละสมณเพศ วิธีที่ญาติโยมสามารถช่วยตรวจสอบสังเกตพระที่ไม่ใช่พระได้อย่างง่ายๆ คือ "ย่ามใหญ่ จีวรไม่สะอาด มีบาตรติดตัว" เมื่อพบเห็นสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าไม่ใช่พระจริง โดยให้แจ้งไปยังสำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดเจ้าคณะเขตทุกเขตแขวง ศูนย์ปฏิบัติการพระวินยาธิการโดยทั่วไป และสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทุกแห่ง ซึ่งการปฏิบัติงานนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการประสานงาน ระหว่าง เจ้าหน้าที่พระวินยาธิการ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนา รวมทั้งประชาชนที่พบเห็นการกระทำผิด ซึ่งความมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดให้หนักขึ้น จากที่ปัจจุบันตามประมวลกฎหมายอาญาส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางศาสนาและวัตถุในทางศาสนา มาตรา ๒๐๘ ระวางโทษ "จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อรับสารภาพก็จะได้รับการรอลงอาญา จึงไม่เป็นที่น่าเกรงกลัวนัก
(ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ ประจำวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ