แพทย์เตือนภาวะเจ็บหน้าอก สัญญาณอันตรายหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 20, 2004 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
แพทย์เตือนว่า ภาวะเจ็บหน้าอก หรือ Chest pain ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มชายสูบบุหรี่ ผู้สูงอายุ ผู้เป็นเบาหวาน
ผู้ที่มีภาวะไขมันหรือโคเลสเตอรอลในเลือดสูง และความดันโลหิตสูงที่เข้าข่ายเป็นโรคหัวใจ อาจเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและมีอันตรายต่อชีวิตได้
นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจกล่าวว่า แม้ว่าอาการเจ็บหน้าอก เกิดได้จากหลายปัจจัยและไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคหัวใจเสมอไป เพราะบางครั้งเป็นอาการที่แสดงมาจากอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เช่น การอักเสบของเหยื่อปอด ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือกระดูกซี่โครงกับกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ แต่หากใครมีอาการเจ็บบริเวณหน้าอกส่วนกลาง อึดอัดและหายใจไม่สะดวก ปวดร้าวไปที่กราม และแขน ส่วนมากจะเป็นที่แขนซ้ายเกิดขึ้นบ่อยๆ และปวดเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาการดังกล่าวเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคหัวใจตีบ
นอกจากนั้นลักษณะอาการที่อาจสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ มี 2 ลักษณะ คือ อาการที่เกิดเป็นระยะๆ และไม่เจ็บเป็นเวลานาน มักเกิดในช่วงออกกำลังกาย หรือขณะทำกิจกรรมบางอย่างอยู่ แต่ลักษณะการเจ็บแบบนี้จะเป็นการเจ็บไม่นาน และยังไม่มีอันตรายมาก ส่วนอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายของภาวะหลอดเลือดตีบแบบเฉียบพลัน คือ เจ็บมาก อาจมีเหงื่อออก ใจเต้นใจสั่น หายใจไม่สะดวกและเจ็บอยู่นานอย่างต่อเนื่องนานประมาณ 20 นาที หรือมากกว่านั้น
การวินิจฉัยของแพทย์ว่าผู้ป่วยจะมีอาการของโรคหัวใจหรือไม่นั้น สามารถทำได้โดยให้คนไข้เดินสายพานร่วมกับตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมันและน้ำตาล ตรวจความดันโลหิต วิธีเหล่านี้สามารถยืนยันของภาวะโรคดังกล่าวได้ร้อยละ 50 - 60 หรือแพทย์อาจใช้วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้า ฉีดสารกัมมันตภาพรังสีดูภาพหัวใจ การอัลตร้าซาวน์เพื่อดูการบีบตัวของหัวใจ หรือการวัดปริมาณแคลเซียมที่หลอดเลือดหัวใจ ซึ่งกลุ่มคนที่มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ ผู้ชายอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือระดับไขมันในเลือดสูง อย่างไรก็ตามภาวะโรคหัวใจดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุน้อยได้เช่นกัน อาทิ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ เป็นต้น
การรักษาก็สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้อยู่กับอาการของคนไข้และปัจจัยหลายด้าน เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น จุดที่หลอดเลือดหัวใจตีบมีน้อยหรือมาก โดยขั้นแรกอาจใช้วิธีรับประทานยา ทำบอลลูนขยายหลอดเลือด ทำบายพาส หรือใส่สเตนท์
การทำบอลลูนปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมาก ถือเป็นวิธีการรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัดด้วยการเอาสายที่มีบอลลูนที่
ตรงปลายสอดใส่เข้าไปที่หลอดเลือดแขนหรือขา โดยที่เมื่อก่อนนี้การทำบอลลูนมีโอกาสที่หลอดเลือดตีบซ้ำเกิดขึ้นในระยะ 6 เดือนแรก
ขณะที่การใส่สเตนท์ หรือขดลวดประดิษฐ์ลักษณะเหมือนกับสปริงเล็กๆ ทำจากสแตนเลสสตีล หรือคาร์บอน สามารถใส่เข้าไปค้ำตรงที่หลอดเลือดตีบ หลังจากทำบอลลูนแล้วจะลดอาการตีบซ้ำไม่ให้กลับมาได้อีก หรือลดได้จากระดับร้อยละ 35 - 40 ลงมาที่ระดับร้อยละ 10 - 20 ขึ้นอยู่กับคนไข้ สาเหตุการตีบซึ่งเกิดจากขดลวดที่ใส่เข้าไปนี้จะไปกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (เช่นเดียวกับการแผลเป็น) ให้เจริญเติบโตเข้าไปในขดลวด เกิดการตีบของหลอดเลือดบริเวณที่มีขดลวดแบบเก่านี้
ในปัจจุบันได้มีพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่นำยาไปเคลือบบนขดลวด ซึ่งเมื่อใส่ขดลวดนี้เข้าไปในหลอดเลือดแล้ว ตัวยาที่เคลือบอยู่จะค่อยๆถูกปล่อยเข้าไปในผนังหลอดเลือดเพื่อทำปฏิกริยาหยุดยั้งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ที่เกิดตามตามธรรมชาติ สามารถลดการกลับมาตีบใหม่ได้ (โดยการเติบโตของเนื้อเยื่อนี้จะเกิดภายใน 6 เดือนแรกและถ้าไม่เกิดก็จะไม่เกิดขึ้นอีก) ทำให้วิธีใส่ขดลวดที่เคลือบยาดังกล่าวลดการกลับไปตีบใหม่จากร้อยละ 20 ลงมาที่ระดับร้อยละ 5 หรือต่ำกว่าได้ และถือว่าเป็นการปฏิวัตินวัตกรรมทางการแพทย์เลยทีเดียวที่การรักษาด้วยการขยายหลอดเลือดให้ผลดีเท่ากับ/หรือดีกว่าทางผ่าตัดบายพาสในบางกรณี (แต่ยังไม่เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบโดยตรง)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีวิธีการรักษาที่ทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น แต่ผู้ป่วยก็ควรต้องดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ทางที่ดีที่สุดคือควรป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ เช่น ควรงดการสูบบุหรี่ ป้องกันไม่ให้มีไขมันในเลือดสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรเช็คสุขภาพเป็นประจำ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
กนกรัชต์ ทิมบุญธรรม
พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
โทรศัพท์ 0-2651-8989 ต่อ 225
โทรสาร 0-2651-9649-50--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

แท็ก โรคหัวใจ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ