กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
เนื่องในโอกาส “วันอาสาฬหบูชา” วันที่ 2 ส.ค. และ “วันเข้าพรรษา” ในวันที่ 3 ส.ค. 55 นี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี เล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของการงดดื่มสุรา เพื่อเป็นการปลูกฝังค่านิยมการลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน พร้อมสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ในช่วงเข้าพรรษานี้
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี การดื่มสุราจะก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ความรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ความรุนแรง ข่มขืน อาชญากรรมและโรคเรื้อรัง ฯลฯ ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้ดื่มโดยตรง ทำให้สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความคิดอ่าน ฝ่อก่อนวัย ส่งผลให้มีความจำไม่ดี เกิดอาการซึมเศร้า สับสน บางรายอาจจะทำให้เกิดโรคจิต ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมาอีกจำนวนมาก เช่น ร้อยละ 10-35 ของผู้ดื่มสุรามากจะเป็นโรคตับอักเสบ อีกร้อยละ 10-20 จะเป็นโรคตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับ หรือมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งปาก ปอด ตับอ่อน หลายรายมีอาการท้องเสียและริดสีดวงทวาร เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ปวดท้องเป็นประจำ เลือดออกทางเดินอาหาร และอาจกลายเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารในที่สุด
นอกจากนี้ การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา มีผลกระทบต่อสมองส่วนควบคุมสติปัญญา การตัดสินใจและควบคุมความฉับไวในการปฏิบัติการช่วงกะทันหัน การดื่มเหล้ามีผลต่อการขับขี่โดยตรง ทำให้การมองเห็นแคบลง การรับรู้ต่อความเคลื่อนไหวรอบตัวน้อยลง การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง ในเวลาคับขันจึงอาจแตะเบรกและหักหลบได้ช้ากว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นผลให้ในแต่ละปีมีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากสาเหตุเมาแล้วขับเป็นจำนวนมาก อุบัติเหตุจราจรมากกว่าครึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มเหล้า จากการศึกษาพบว่าการดื่มเหล้าผสม 1 แก้วหรือเบียร์ครึ่งขวดใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็น 2 เท่า แต่ถ้าดื่มเหล้าผสม 4 แก้วหรือเบียร์ 2 ขวด จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นเป็น 7 เท่า