กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
กรมพินิจฯ เปิดผลวิจัย พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อหาแนวทางให้เด็กต่ำกว่า 10 ปี ได้รับการสงเคราะห์และดูแลอย่างทั่วถึง
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 เวลา 09.00 น. นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นประธานเปิดการนำเสนอผลการวิจัยและรับฟังความคิดเห็นโครงการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กที่กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดที่อายุไม่ถึงเกณฑ์รับโทษทางอาญา ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า กรมพินิจฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการปฏิบัติต่อเด็กที่กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดที่อายุไม่ถึงเกณฑ์รับโทษทางอาญา โดยการขับเคลื่อนให้มีการปรับระเบียบ แนวทางปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการคำนึงถึงวุฒิภาวะ สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา พร้อมกับไปสำรวจความพร้อมของผู้ปฏิบัติงาน สร้างความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการดำเนินงานให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาระบบการคัดกรอง ประเมินสภาพปัญหาและความจำเป็น ระบบการส่งต่อที่ชัดเจน รวมถึงการพัฒนาแนวทางในการช่วยเหลือและแก้ไขเด็กที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาพฤติกรรมและสุขภาพจิตและลดโอกาสที่เด็กจะหวนกลับไปกระทำผิดซ้ำในอนาคต
อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวต่ออีกว่า การปรับเพิ่มอายุการรับผิดทางอาญาของเด็ก โดยให้เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ไม่ถือเป็นความผิดและไม่ต้องรับโทษ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยใช้วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเด็ก แต่จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าระเบียบและแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความพร้อมในการปฏิบัติ เนื่องจากขาดความรู้ ความเข้าใจในระเบียบปฏิบัติและขาดทักษะในการปฏิบัติงาน ส่งผลให้เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี ที่กระทำผิดส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแล สงเคราะห์และคุ้มครองอย่างเหมาะสม
กรมพินิจฯ จึงได้จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาเพิ่มเติมในการพัฒนารูปแบบ ระบบและแนวทางการดูแล ช่วยเหลือ และคุ้มครองเด็กที่กระทำความผิดที่อายุไม่ถึงเกณฑ์รับโทษ ที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความจำเป็นของเด็กและครอบครัว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดโอกาสของการกระทำผิดซ้ำ รวมถึงความสำเร็จในการดำเนินงานอันจะนำไปสู่ความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรองรับเด็กอายุ ไม่เกิน 12 ปี ที่กระทำผิด หากกฎหมายปรับอายุขั้นต่ำของการรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 12 ปี โดยมีตำรวจ อัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเชี่ยวชาญด้านเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมประชุม