สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ ครึ่งแรกของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 24, 2012 17:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ว่ายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าคงค้าง (Outstanding) ของตราสารหนี้ทุกประเภทรวมกันเท่ากับ 8.06 ล้านล้านบาท หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2554 และถึงแม้ว่าปริมาณตราสารหนี้ออกใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี จะมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ประมาณ 18% หรือมีมูลค่าออกใหม่ประมาณ 5.60 ล้านล้านบาท แต่ปริมาณการออกที่ลดลง เป็นผลมาจากการลดลงในส่วนของพันธบัตรระยะสั้นที่ออกโดย ธปท. เป็นหลัก ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจกลับมีปริมาณการออกใหม่ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 57% และ 193% ตามลำดับ ทั้งนี้ตราสารหนี้ที่มีปริมาณการออกใหม่สูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปีได้แก่ พันธบัตร ธปท. มูลค่าประมาณ 4.42 ล้านล้านบาท (79% ของมูลค่าตราสารหนี้ที่ออกทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว) ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้) มีมูลค่าการออกใหม่ 245,297 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 121% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์เข้ามาระดมทุนผ่านหุ้นกู้ในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก ส่งผลให้ปริมาณหุ้นกู้ออกใหม่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มของธุรกิจที่ออกหุ้นกู้สูงสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ รองลงมาได้แก่ กลุ่มพลังงานในขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชน (Commercial Paper: CP) มีมูลค่าการออกใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประธาน ThaiBMA กล่าวเพิ่มเติมว่า “มูลค่าการออกหุ้นกู้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ประมาณ 245,300 ล้านบาท เป็นการระดมทุนจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กว่า 91,500 ล้านบาท (37% ของหุ้นกู้ออกใหม่ทั้งหมด) โดยเกือบทั้งหมดเป็นการออกในลักษณะของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ซึ่งธนาคารฯ สามารถนำไปนับเป็นเงินทุนสำรองขั้นที่ 2 ของตนเองได้ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนของตัวธนาคาร” ในขณะที่มูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อัตราดอกเบี้ยในประเทศมีทิศทางที่จะปรับตัวลดลง ส่งผลให้การแข่งขันกันออกตราสารระยะสั้นเพื่อรองรับฐานลูกค้ารายใหญ่ของตนเอง ไม่มีความรุนแรงมากเท่ากับในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 โดยในช่วงเวลานั้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกตราสารหนี้ระยะสั้นกว่า 402,240 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าการออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ที่มีมูลค่าเพียง 163,100 ล้านบาท สำหรับความเคลื่อนไหวในตลาดรอง พบว่ามูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อยู่ที่ 9.85 ล้านล้านบาท นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น ๆ อย่างพันธบัตร ธปท. เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตราสารหนี้ที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในช่วงขาลงมากกว่าขาขึ้น โดยการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 (ไม่รวมตราสารหนี้ระยะสั้น อายุน้อยกว่า 1 ปี) อยู่ที่ประมาณ 18,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนประมาณ 95% ดร.บัณฑิต กล่าวว่า “ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิกว่า 506,100 ล้านบาท แต่หากพิจาณาเฉพาะการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในตราสารหนี้อายุมากกว่าหนึ่งปี พบว่านักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิประมาณ 118,300 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าการถือครองตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 604,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2554 ในขณะที่การถือครองตราสารหนี้ระยะยาวอย่างพันธบัตรรัฐบาลมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 165,900 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตราสารหนี้ระยะยาว ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา” ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2554 พบว่า ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและปริมาณพันธบัตรรัฐบาลออกใหม่ (Bond Supply) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมากความกังวลเรื่องดังกล่าวผ่อนคลายลง ประกอบปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อ และทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เริ่มส่งสัญญาณปรับลง ทำให้ตลาดมองว่าอัตราดอกเบี้ยบ้านเรามีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงในอนาคต ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนเริ่มปรับตัวลดลง โดยอัตราผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุยายนเทียบกับ ณ สิ้นปี 2554 ในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลงอยู่ในช่วงประมาณ -3 ถึง -18 basis point ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ R/P 1 วัน ที่ปรับลดลง 25 basis point (0.25%) ณ ช่วงต้นปี ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ +3 ถึง +30 bp ประธาน ThaiBMA กล่าวถึงแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่เหลือของปี 2555 โดยคาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Underwriter) และผู้ค้าตราสารหนี้ (Dealer) คาดว่ามูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน (หุ้นกู้) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 จะอยู่ที่ประมาณ 130,000 — 150,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ตัวเลขประมาณการณ์หุ้นกู้ออกใหม่ตลอดทั้งปี 2555 น่าจะอยู่ใกล้เคียงกับตัวเลขเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ คือที่ประมาณ 350,000 — 400,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายในตลาดรองคาดว่าการลงทุนยังคงเน้นไปที่การซื้อขายตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลืออายุไม่เกิน 10 ปี โดยที่ส่วนหนึ่ง เนื่องจากนักลงทุนยังคงระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ จึงเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นต่อไป ในขณะที่ตราสารหนี้ช่วงอายุประมาณ 5 ถึง 10 ปี เป็นตราสารที่นักลงทุนต่างชาตินิยมทำการซื้อขายในช่วงที่ผ่านมา และเป็นตราสารหนี้ที่มีการออกใหม่อยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงค่อนข้างเหมาะสมกับการลงทุนของนักลงทุนหลายๆกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดรองน่าจะมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เนื่องจากปริมาณของพันธบัตรรัฐบาลออกใหม่ที่ยังคงมีมูลค่าค่อนข้างสูง บวกกับแรงซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักลงทุนกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างชาติ ส่วนความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในช่วงครึ่งหลังของปี มีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงตามทิศทางดอกเบี้ย และแรงซื้อของนักลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ