กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กระทรวงการคลัง
ด.ร.สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวง การคลัง เปิดเผยถึงแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2547ว่าทางกระทรวงการคลังมีความมั่นใจ ในปีงบประมาณ 2547 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิได้สูงกว่าประมาณการ 1,063,600 ล้านบาท โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้สุทธิประมาณ 1,111,100 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 47,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้1) การขยายตัวของธุรกรรม และภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัจจัยลบทั้ง โรคไข้หวัดนก เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง 2) จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2547 ที่สูงกว่าประมาณการร้อยละ 5.9 และคาดว่าในช่วง 3 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2547 จะยังคงจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบครึ่งปีบัญชี 2547 ที่จะชำระในเดือนสิงหาคม 2547 นี้
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้รวมของรัฐบาลประจำเดือนมิถุนายน 2547 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายในอัตราที่สูง โดยจัดเก็บได้สุทธิรวม 85,763 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 20,529 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.5 สาเหตุสำคัญสรุปได้ ดังนี้
การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมในสังกัดกระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) สูงกว่าที่ประมาณการไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสรรพากรจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึงร้อยละ 21.4 ซึ่งเป็นผลมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าที่คาดไว้ถึงร้อยละ 31.1 และ 20.4 ตามลำดับ
ได้รับรายได้จากการแปรรูปบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 6,000 ล้านบาท (เดิมคาดว่าจะนำส่งในเดือนเมษายน 2547)
อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่แล้วเพียงร้อยละ 0.4 เนื่องจากในปีที่แล้วมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเหลื่อมมาเดือนนี้ จำนวน 14,672 ล้านบาท (ปกติจะต้องชำระในเดือนพฤษภาคม) ซึ่งหากไม่นับรวมรายได้ดังกล่าว รายได้รัฐบาลจะสูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 22.4
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2547 (ตุลาคม 2546 — มิถุนายน 2547) แม้จะมีการปรับเป้าหมายรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้น (135,500 ล้านบาท) แล้วก็ตาม รัฐบาลยังคงจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมาย โดยจัดเก็บได้สุทธิรวมทั้งสิ้น 838,078 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 46,244 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.9) การจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่สูงกว่าประมาณการดังกล่าวเป็นผลจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและสูงกว่าที่คาดไว้ ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี ทั้งจากการขยายฐานภาษี และการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการยื่นชำระภาษี ทำให้การจัดเก็บภาษีของทั้ง 3 หน่วยงานหลัก (โดยเฉพาะกรมสรรพากร) จัดเก็บภาษีสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจยังนำส่งรายได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้เช่นกัน
ผลการจัดเก็บรายได้เมื่อจำแนกตามฐานภาษีปรากฏว่าภาษีที่เก็บจากฐานรายได้ และฐานการบริโภคสูงกว่าประมาณการร้อยละ 8.9 และ 3.5 ตามลำดับ (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 23.1 และ 17.2 ตามลำดับ)
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลจำแนกตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้1) กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 547,607 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 38,364 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.7) เนื่องจากภาษีทุกประเภทจัดเก็บได้สูงกว่าที่คาดไว้ที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 11,428 10,263 7,151 และ 6,627 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 6.8 33.7 และ 6.7 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.7 24.1 49.7 และ 16.1 ตามลำดับ)
2) กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 209,105 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 3,575 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.5) เนื่องจากภาษีรถยนต์ และภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการ 2,168 และ 1,321 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 และ 5.1 ตามลำดับ (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.9 และ 10.4 ตามลำดับ)3)กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 77,390 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 161 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3) โดยอากรขาเข้าซึ่งเป็นรายได้หลักจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 368 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.5 แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.9 ทั้งนี้ เป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร และการปรับลดอัตราอากรขาเข้าจากการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ซึ่งรายได้ภาษีที่ลดในส่วนนี้ได้ไปเพิ่มรายได้ภาษีในส่วนของกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต
4)หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 119,864 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,021 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 27.4 หากไม่รวมรายได้จาก การขายหุ้นให้กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จะสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.75) เนื่องจากรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าที่คาดไว้ 8,090 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.0) รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ที่สำคัญแก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--